วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาตนเองจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ( p_arporn11@hotmail.com )
คุณเคยทำงานผิดพลาดบ้างหรือไม่ แล้วคุณเองรู้สึกอย่างไรต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงจะประสพหรือเผชิญกับการทำงานที่ผิดพลาดไปไม่มากก็น้อย ทั้งนี้รูปแบบของการทำงานที่ผิดพลาดนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในลักษณะที่ต่างกัน เช่น
ความล่าช้าในการนำส่งมอบผลงาน – นำส่งงานให้กับหัวหน้างานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือพิจารณาไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด
ความไม่ถูกต้องของข้อมูล – ข้อมูลที่ให้ในเอกสาร รายงาน จดหมาย หรือแบบฟอร์มต่าง ๆ ไม่ถูกต้อง มีการแก้ไขอยู่บ่อยครั้ง
ความไม่พร้อมขอข้อมูล อุปกรณ์ และเครื่องมือ – คุณเตรียมข้อมูล อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ไม่ครบถ้วน มีผลทำให้งานที่กำลังหรือจะต้องดำเนินการต่อไปหยุดชะงัก
ลูกค้าร้องเรียน – ลูกค้าไม่ชอบหรือไม่พอใจในผลการทำงาน จึงร้องเรียนมายังหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือตัวคุณเองโดยตรง
คุณรู้ไหมว่าความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งต่อคุณทั้งในแง่บวก หรือทางที่ดี (Positive Thinking) และส่งผลต่อคุณในแง่ลบ หรือทางที่ไม่ดี ( Negative Thinking) ทั้งนี้ผลที่เกิด ขึ้นในแง่ลบต่อตัวคุณเอง ได้แก่
ผลงานที่หัวหน้างานประเมินคุณ – ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณเองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผลการทำงาน หรือ Performance ที่หัวหน้างานต้องประเมินคุณว่าคุณทำงานไม่ได้มาตรฐานหรือความคาดหวังที่หัวหน้างานต้องการ
โรคภัยถามหา – ซ้ำร้ายความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมักจะเป็นสิ่งตอกย้ำหรือบั่นทอนกำลังใจ สภาพจิตใจให้คุณมีคิดถึงแต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนถึงขนาดกลุ้มอกกลุ้มใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดแต่เพียงว่าเราไม่น่าจะทำสิ่งนั้น มันไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เราเป็นต้นเหตุให้ลูกค้ามีภาพพจน์ต่อหน่วยงานหรือต่อบริษัทที่ไม่ดี บางคนคิดมากเกินไปถึงขนาดเป็นไมเกรน เป็นโรคเครียด ต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ปิดกลั้นความคิดสร้างสรรค์ – ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่งผลต่อจินตนการหรือไอเดียใหม่ ๆ ไม่กล้าแม้จะปรับปรุงหรือพัฒนาระบบงานของตนเอง เหตุเพราะกลัวความผิดพลาดจะเกิดขึ้นอีก แบบว่าอยู่เฉย ๆ จะดีกว่า ขอแค่ทำงานตามที่มอบหมายก็พอแล้ว
ลาออกจากวงการ – บางคนขอยื่นใบลาจากบริษัท ไม่กล้าหรือไม่อยากสู้หน้าผู้คนในบริษัท โดยคิดแต่เพียงว่า " ความผิดครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ไม่น่าที่จะให้อภัย " โดยคิดไปเอง และบางคนถึงขนาดลาออกจากสายอาชีพหรือวงการของตนเอง เพราะอับอายในความผิดของตนจึงขอลาจากวงการไปเปลี่ยนอาชีพใหม่ที่ตนเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านนั้นมาก่อนเลย
ชีวิตนี้ไร้ค่า – บางคนคิดมาก ๆ โทษตัวเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น การตอกย้ำหรือการพูดว่าตัวเองตลอดเวลา จะส่งผลให้คุณเป็นโรคจิต โรคประสาท และบางคนถึงขนาดคิดทำร้ายตัวเอง ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป
คุณเห็นหรือยังว่าความคิดหรือมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแง่ลบนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวคุณ คงไม่มีใครอยากทำผิดพลาด ไม่อยากให้ความผิดนั้นเกิดขึ้นจนเป็นเหตุบริษัทต้องสูญเสียทรัพยากร ลูกค้า หรือเงินทอง และเมื่อไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดในการทำงานเกิดขึ้นแต่มันได้เกิดขึ้นไปแล้ว คุณจะคิดอย่างไรต่อสิ่งที่คุณทำผิดพลาดไป ทำไมคุณไม่เปลี่ยนจากการคิดในแง่ลบมาคิดในแง่บวกดูบ้าง เพราะถึงอย่างไรความผิดพลาดนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว คุณคงไม่สามารถหยุดยั้งหรือรั้งให้ความผิดพลาดไม่เกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้คุณเริ่มปรับเปลี่ยนตนเองใหม่ มองความผิดพลาดในทางบวกดูบ้าง โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
ยิ้มสู้ ยอมรับในความผิด ให้คุณมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเสมือนครูหรือเป็นบทเรียนอันมีค่าที่น่าจดจำ ยอมรับและยิ้มสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคุณเป็นคนทำผิดพลาดเอง โดยอย่าพยายามหาแนวร่วมหรือโทษผู้อื่น หากคุณทำผิดจริง คุณต้องยอมรับต่อตัวคุณเอง หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าคุณเป็นผู้ทำผิดพลาด และการยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาดเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของความเป็นผู้นำที่ดี
ปรับความคิดเพื่อพัฒนาตน อย่าให้ความผิดพลาดทำให้คุณไม่พัฒนาตนเอง ไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ คุณต้องยอมรับว่าความผิดพลาดย่อมต้องเกิดขึ้นได้กับทุกคน หนทางของชีวิตมิใช่โรยด้วยดอกกุหลาบที่ไม่มีขวากหนาม เพียงแต่ว่าคุณจะเผชิญกับขวากหนามที่มากมายกว่าคนอื่นไปได้หรือไม่ จงตระหนักไว้เสมอว่าขวากหนามคืออุปสรรคอันล้ำค่าที่ทำให้คุณเก่งและแกร่งขึ้น ผู้ได้เปรียบคือผู้สามารถเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคนั้นได้ และนั่นหมายความว่าคุณจะมีบทเรียนที่สามารถสอนหรือแนะนำคนรุ่นหลัง ๆ ของคุณเองได้
หาทางพัฒนาตนเองจากความผิด เมื่อคุณยอมรับและพร้อมที่จะสู้กับปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ขอให้คุณเริ่มตรวจสอบการทำงานของคุณเองว่า โดยถามตัวเองว่า
อะไรคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น – จัดทำตัวเลขในรายงานผิดพลาด และส่งมอบให้ลูกค้าล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด
อะไรคือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด – ข้อมูลที่ผิดพลาดและล่าช้านั้นเป็นเหตุให้ลูกค้าไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงขนาดฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล
สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความผิดพลาด – ขาดการตรวจสอบงานเท่าที่ควร เนื่องจากไว้วางใจให้ลูกน้องเป็นผู้ตรวจสอบ
มีวิธีการอย่างไรในการทำให้ความผิดพลาดลดลง – จัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในการตรวจสอบงานของลูกน้อง และควรมีการติดตามงานจากลูกน้องบ่อยครั้งขึ้น
ตรวจสอบและประเมินตนเอง
ขอให้คุณเริ่มตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าความผิดพลาดนั้นได้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ หากยังเกิดขึ้นอีก คุณไม่ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ แต่คุณควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม พยายามหาวิธีการเพื่อที่จะลดความผิดพลาดให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแค่คุณไม่นิ่งดูดาย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้คุณเองจะต้องยอมรับว่าคุณทำงานผิดพลาด และก็จะพยายามปรับปรุงตนเองให้มากขึ้นกว่าเดิม คุณควรจะต้องถามตัวเองแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อมิให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จงมองความผิดพลาดในการทำงานเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาตนเอง ทุกคนย่อมทำผิดพลาดได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นอีก และเมื่อคุณรู้ว่าคุณทำงานผิดพลาด ยอมรับในสิ่งนั้น และพร้อมเสมอที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเอง คุณจะเป็นผู้หนึ่งที่ประสพความสำเร็จในหน้าที่การงานจากบทเรียนที่คุณประสพด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น: