
ความเป็นมาของ “วันแม่” นั้น กล่าวกันว่า ชาวอเมริกันเป็นผู้กำหนดให้มีขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยนางแอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟียเป็นผู้เรียกร้องให้มีขึ้น และต้องใช้ความพยายามร่วมสองปีจึงประสบผลสำเร็จ ซึ่งในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ ประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือเอาวันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมเป็น “วันแม่แห่งชาติ” และใช้ “ดอกคาร์เนชั่น” เป็นสัญลักษณ์วันแม่ โดยมี ๒ แบบคือ ถ้าแม่มีชีวิตอยู่ ให้ใช้ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ใช้ดอกคาร์เนชั่นสีขาว
ส่วนในประเทศไทย มีการจัดงานวันแม่ครั้งแรก โดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่สวนอัมพร แต่เนื่องจากช่วงดังกล่าวเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ต้องงดจัดในปีต่อไป และต่อมาแม้จะมีหลายหน่วยงานได้พยายามรื้อฟื้นจัดขึ้นอีก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนด “วันแม่” หลายครั้ง
จนเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะรัฐมนตรีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีประกาศรับรองให้วันที่ ๑๕ เมษายนของทุกๆปี เป็น วันแม่ โดยเรียกว่า “วันแม่ของชาติ” และมอบหมายให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้จัดงานเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นครั้งแรก และได้รับความสำเร็จด้วยดี มีประชาชนและหน่วยงานต่างๆให้การสนับสนุนจัดงานกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้นมา และยังมีการประกวดแม่แห่งชาติ และคำขวัญวันแม่ เพื่อให้เกียรติและเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้ยิ่งๆขึ้นไปด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนใหม่ โดยให้ถือว่าวันที่ ๑๒ สิงหาคม อันเป็น วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็น “วันแม่แห่งชาติ” และกำหนดให้ใช้ “ดอกมะลิ” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่
ดอกมะลิกับ "วันแม่"

การที่ใช้ “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์วันแม่ ก็เพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมที่หอมไปไกลและหอมได้นาน ผลิดอกได้ทั้งปี อีกทั้งยังนำไปปรุงเป็นเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ลึกซึ้งที่แม่มีต่อลูก เป็นความรักที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีพิษมีภัย มีแต่ความชุ่มชื่นใจดั่งความหอมของดอกมะลิ.