วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

งานมหกรรมรักการอ่าน



รมว.ศึกษาธิการ เปิดงานมหกรรมรักการอ่าน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมรักการอ่าน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการอ่านและการเรียนรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหกรรมรักการอ่านเป็นสิ่งที่จะจุดประกาย กระตุ้นและสนองเจตนารมณ์ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ทำให้เกิดความก้าวหน้า การพัฒนางานด้านการศึกษาของไทยไปสู่สากล และไม่ได้พัฒนาเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น การอ่านเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการอ่านคือการเปิดโลกทั้งโลก ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอยู่ในหนังสือ และในปัจจุบันอาจจะพัฒนาไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือ Internet สำหรับเด็กนักเรียน ก็ไม่ได้อ่านเฉพาะตำราเรียน ยังสามารถอ่านหนังสืออื่นๆ ที่สนใจได้ การปลูกฝังให้รักการอ่านนั้น เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะความรู้มีอยู่มากมาย แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของประเทศ รู้ว่าประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร และยังทำให้มีความรู้รอบตัวอื่นๆ เช่น การที่มนุษย์สามารถบินได้ การเดินทางไปนอกโลก การแล่นของรถไฟ เป็นต้น วิธีการปลูกฝังให้รักการอ่าน ต้องได้อ่านในสิ่งที่ชอบ ถ้าลูกหลานจะอ่านหนังสือนวนิยาย การ์ตูน หรือความรู้รอบตัว ขออย่าได้ปิดกั้นเด็ก เพียงแต่ให้แนวความคิดเรื่องการแบ่งเวลาให้ถูกต้องกับเด็ก การอ่านหนังสือชนิดใดก็ตาม เมื่อเริ่มอ่านแล้ว อาจจะทำให้เกิดความสนใจจะอ่านต่อ ทำให้อยากจะเรียนรู้เพิ่มขึ้น เกิดการค้นคว้าหนังสือมาอ่านต่อไป ศธ. เป็นกำลังสำคัญในการปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้แก่เด็กอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลและอบรมเด็ก เพื่อให้เด็กเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป อุปสรรคใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน คงจะไม่สามารถทำลายความหวัง ความตั้งใจในการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ก็จะต้องพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับการปลูกฝังเยาวชนให้รักการอ่าน รักดี รักสิ่งที่มีคุณธรรม ก็จะต้องดำเนินการต่อไป แต่ไม่มีใครสามารถดำเนินการได้คนเดียวตลอดไป จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เมื่อรัฐบาลชุดนี้ออกไป ก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็จะดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า การจัดงานวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องอย่างยิ่ง ในการสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกระดับ รมว.ศธ. ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหลักของ ศธ. ภาคเอกชน และประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตหนังสือ หนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง และหนังสือจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้ถูกเปิดอ่าน “เปิดหนังสือก็เหมือนกับเปิดโลกทั้งโลก ทุกอย่างในโลกมีอยู่ในหนังสือ” มหกรรมรักการอ่าน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๘ กันยายน ๒๕๕๑ ณ อาคาร ๑-๔ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานประกอบด้วย ๔ เมืองหลัก ๑๒ เมืองย่อย มีการแนะนำสุดยอด ๖๐ หนังสือดีที่ควรอ่าน ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เพิ่มไอคิว และพัฒนาอีคิวที่เหมาะกับทุกวัย และมีเวทีการแสดงศักยภาพ ด้านทักษะการอ่าน เขียน พูด และกิจกรรมการแสดงบนเวทีด้วย.

แนะนำหนังหนังสือน่าอ่าน


ชื่อเรื่อง เรื่องการอ่านจับใจความ
เนื้อหาจาก หนังสือการอ่านจับใจความ ผู้แต่ง แววมยุรา เหมือนนิล สำนักพิมพ์ ชมรมเด็ก

พิมพ์ครั้งแรก 2538 /ครั้งที่ 2541

ISBN 974-8262-86-3 ราคา100 บาท
เลขเรียกหนังสือ PN4145 ว948กฉ.5
สถานที่เก็บ SPU Main Library
ความประทับใจต่อหนังสือเล่มนี้: เนื่องจากการที่เราจะอ่านหนังสือแล้วเข้าถึงแก่นหรือเนื้อหาของหนังสือนั้นจะต้องอาศัยหลักการอ่านที่ถูกต้องเพราะบางครั้งถ้าเราอ่านอย่างเดียวโดยไม่รู้หลักที่ถูกต้อง เราอาจจจะไม่ได้รับถึงอรรถรส ไม่เข้าถึงแก่น ประโยขน์ หรือสื่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านทราบได้อย่างเต็มที่หรือบิดเบือนได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในการเป็นพื้นฐานหรือตัวช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อหาของหนังสือที่จะอ่านมากขึ้น และเป็นหนังสือที่อยากจให้ทุกคนที่เริ่มอ่านหนังสืออ่านเป็นเล่มแรกเพื่อเสริมสร้างการอ่านที่ดีและจะช่วยให้อ่านหนังสือได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น
เนื้อหาสำคัญโดยสรุป: ในที่นี้จะสรุปรวมเฉพาะหลักสำคัญที่สามารถใช้ในการอ่านหนังสือได้ทุกประเภท ส่วนกลวิธีจับใจความของหนังสือแต่ละประเภทนั้นเพื่อนๆสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เนิ้อหาในหนังสือโดยตรง
การอ่านจับใจความ
สาระสำคัญ
1. การอ่านจับใจความ คือการอ่านที่มุ่งค้นหาสาระสำคัญของเรื่องหรือหนังสือแต่ละเล่มว่าคืออะไร ซึ่งแบ่งออกเป็น2ส่วนดังนี้
1.1 ส่วนที่เป็นใจความสำคัญ
1.2 ส่วนที่ขยายใจความสำคัญหรือส่วนประกอบ เพื่อให้เรื่องชัดเจนยิ่งขึ้น ในกรณีที่เรื่องนั้นมีย่อหน้าเดียว ในย่อหน้านั้นจะมีใจความสำคัญอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นเป็นส่วนขยายใจความสำคัญ หรือส่วนขยายใจความสำคัญ หรือส่วนประกอบ
2. การอ่านจับใจความให้เข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว ต้องอาศัยแนวทางและพื้นฐานสำคัญหลายประการดังนี้
2.1 สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆเพราะเป็นส่วนประกอบของหนังสือ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงในการใช้หนังสือ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาของหนังสือ
2.2 กำหนดเป้าหมายในการอ่านให้ชัดเจนทุกครั้ง คือกำหนดว่าจะอ่านเพื่ออะไร เช่น เพื่อความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน เป็นต้น
2.3 ต้องมีความสามารถทางภาษา เพราะมันเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการอ่านจับใจความ โดยต้องใช้ทักษะการแปลความ อย่างบางคำเราไม่รู้ความหมายก็จะต้องใช้พจนานุกรมเข้ามาช่วย หรือการอ่านประโยคต่างๆต้องดูนัยยะแฝงด้วย
2.4 การมีประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านจะช่วยให้เราเข้าใจและจับใจความความเรื่องที่อ่านได้ง่ายขึ้น ในข้อนี้ผู้อ่านสามารถหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาอ่านประกอบกันเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็ได้
2.5 ความเข้าใจลักษณะของหนังสือ หนังสือแต่ละประเภทมีรูปแบบการแต่งและเป้าหมายของเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น
หนังสือประเภทสารัตถคดี (Non-fiction) เช่นตำรา สารคดี ข่าว บทความ เป็นเรื่องจริงที่มุ่งให้ความรู้หรือให้ความคิดแก่ผู้อ่านมากกว่าอย่างอื่น จะจับใจความง่าย ตรงไปตรงมา
หนังสือประเภทบันเทิงคดี (Fiction) เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย เป็นเรื่องสมมติ มุ่งให้ความเพลิดเพลินเป็นสำคัญแต่จะมีกลวิธีแต่งที่ซับซ้อน จับใจความยาก
3. การอ่านจับใจความนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการอ่านในระดับต้น และระดับที่สูงขึ้นไปอีก
การที่เราจะรู้ว่าเราสามารถจับใจความได้หรือไม่สามารถสังเกตได้จากสิ่งต่อไปนี้
3.1 การจำลำดับเรื่องที่อ่าน และเล่าเรื่องโดยใช้คำพูดของตนเองได้
3.2 การบอกเล่าความทรงจำจากการอ่าในสิ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ เช่น ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่เกิดในหนังสือ เป็นต้น
3.3 การทำตามคำสั่งหรือข้อเสนอแนะหลังอ่านได้
3.4 รู้จักแยกข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือจินตนาการได้
3.5 สามารถรวมข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่มีอยู่แล้วได้
3.6 การเลือกความหมายที่ถูกต้องและนำไปใช้ได้
3.7 การให้ตัวอย่างประกอบได้
3.8 การสรุปเรื่องได้
กลวิธีการอ่านจับใจความสำคัญ
สาระสำคัญ
1. การอ่านจับใจความสำคัญของเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรเริ่มจากการอ่านจับใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้าให้ถูกต้องแม่นยำเสียก่อน ถ้าเรื่องไหนมีหลายย่อหน้าแสดงว่ามีหลายใจความสำคัญ เมื่อนำประเด็นสำคัญในแต่ละย่อหน้ามาพิจารณารวมกันแล้วจะทำให้จับแก่นเรื่องได้ง่ายขึ้น
2.ใจความสำคัญแต่ละย่อหน้า หมายถึงข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆในย่อหน้านั้นไว้ทั้งหมด เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านรู้ในย่อหน้านั้นๆ
3. ใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้า ส่วนมากมักอยู่ในประโยคใดประโยคหนึ่ง ดดยมีข้อสังเกตดังนี้
3.1 ประโยคต้นย่อหน้า เป็นจุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องมากที่สุด เพราะสว่นมากผู้เขียนจะบอกประเด็นสำคัญแล้วค่อยขยายความ
3.2 ประโยคตอนท้ายย่อหน้า เป็นจุดที่พบใจความสำคัญรองลงมาจากประโยคต้นย่อหน้า โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดย่อยๆมาก่อนแล้วสรุปให้ในตอนท้าย
3.3 ประโยคกลางย่อหน้า เป็นจุดที่ค้นหาใจความสำคัญได้ยากที่สุด เพราะจะต้องเปรียบเทียบสาระที่สำคัญที่สุดว่าอยู่ที่ประโยคไหน
3.4 ไม่ปรากฎชัดเจนที่ใดที่หนึ่ง ในข้อนี้เราต้องอ่านโดยรวมแล้วสรุปเนื้อหาทั้งหมดเพื่อให้ได้ใจความสำคัญ
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหลักพื้นฐานที่สำคัญในการอ่านจับใจความที่สามารถใช้ได้กับหนังสือทุกประเภท หากต้องการเจาะลึกถึงกลวิธีอ่านจับใจความของหนังสือแต่ละปะเภทเพื่อนๆสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือการอ่านจับใจความได้โดยตรง
ขอขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ การอ่านจับใจความ (อาจารย์แววมยุรา เหมือนนิล)2538/2541

เคล็ดลับวิธีทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนได้อย่างแม่นยำ


เคล็ดลับการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนนี้ เป็นเทคนิคง่าย ๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกคน ขอแต่เพียงเข้าใจเคล็ดลับวิธีการเท่านั้นเอง หัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียน คือ การหมั่นฝึกฝนตามขั้นตอนให้เกิดความเคยชินจนติดกลายเป็นนิสัยการอ่านเพื่อทำความเข้าใจนี้จะแตกต่างจากการอ่านเพียงเพื่อท่องจำ
1. เวลาอ่านบทเรียนหรือตำรา ให้อ่านอย่างตั้งใจ แต่ทว่าเราจะไม่อ่านไปเรื่อย ๆ คือเราจะ หยุดอ่านเมื่อจบย่อหน้าหรือหยุดเมื่ออ่านไปได้พอสมควรแล้ว
2. จากนั้นให้ปิดหนังสือ ! แล้วลองอธิบายสิ่งที่ตนเองได้อ่านมาให้ตัวเองฟัง คือ เราสามารถอธิบายให้ตัวเองฟังด้วยภาษาสำนวนของเราเอง ฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่า หากเราสามารถอธิบายให้ตัวเองฟังรู้เรื่อง แสดงว่าเราเข้าใจแล้ว ให้อ่านต่อไปได้
3. หากตอนใดเราอ่านแล้วแต่ไม่สามารถอธิบายให้ตัวเองรู้เรื่อง แสดงว่ายังไม่เข้าใจ ให้กลับไปอ่านทบทวนใหม่อีกครั้ง
4. หากเราพยายามอ่านหลายรอบแล้วยังไม่เข้าใจจริงๆให้จดโน้ตไว้เพื่อนำไปถามอาจารย์ จากนั้นให้อ่านต่อไป
5. ข้อมูลบางอย่างในตำราจำเป็นที่จะต้องท่องจำ เช่น ตัวเลข สถิติ ชื่อสถานที่ บุคคล หรือ สูตร ต่าง ๆ ฯลฯ ก็ควรท่องจำไว้ด้วย เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
6. การเรียนด้วยวิธีท่องจำโดยปราศจากความเข้าใจ เรียนไปก็ลืมไป สูญเสียเวลา เปล่าประโยชน์ เสียเงินทอง
7. การเรียนที่เน้นแต่ความเข้าใจ โดยไม่ยอมท่องจำ ก็จะทำให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ชัดเจน คลุมเครือ
8. ดังนั้นจึงขอสรุปเทคนิคง่าย ๆ สั้น ๆ ดังต่อไปนี้ :-
ก.ให้อ่านหนังสือ สลับกับ การอธิบายให้ตัวเองฟัง
ข.ให้ท่องจำเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต้องจำจริง ๆ เช่น ตัวเลข ชื่อเฉพาะต่างๆ
อ่านหนังสือด้วยวิธีการนี้จะทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้ทั้งเล่ม ไม่ลืมเลย...สวัสดี
หมายเหตุ * เทคนิคการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนได้อย่างแม่นยำนี้ เป็นเพียงข้อเดียว (อรรถปฏิสัมภิทา) ในธรรมะชุดปฏิสัมภิทา 4 หรือ ธรรมะเพื่อความเลิศทางวิชาการ จาก พระไตรปิฎกมรดกทางปัญญาที่สำคัญที่สุดของคนไทย )

...เทคนิคการอ่านหนังสือยังงัยน่ะให้จำง่ายๆ...

ดีค่ะ...เพื่อนๆ วันนี้ Ooo...ทีมงานวิเคราะห์ระบบ...ooO มีเทคนิคในการอ่านหนังสือยังงัยดีน่ะให้จำง่ายๆมาฝากน้องๆด้วยนะค่ะ (ขอบอกเลยว่าพี่เคยลองมาแล้วนะค่ะ แอบไปถามเพื่อนๆที่เค้าได้เกรดดีๆมาค่ะ ว่าเค้ามีเทคนิคอะไร)
อ่ะ...มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ ตามมาๆๆๆ

ข้อที่ 1. น้องๆต้องใส่ใจเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆก่อนเลยล่ะ ดูซิ!!!ว่าวิชาไหนน่ะที่เราต้องสอบเป็นอันดับแรกๆ หยิบวิชานั้นขึ้นมาก่อนเลย เตรียมไว้นะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาที่จะสอบ ชีท เอกสารต่างๆ หรือแนวข้อสอบ(อันนี้สำคัญนะค่ะ หาให้เจอล่ะ) ค้นเลยๆ ทุกวิชานะค่ะ
ข้อที่ 2.แยกหมวดหมู่แต่ละวิชา ก่อน-หลัง แล้วหาที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบด้วยล่ะ
ข้อที่ 3.เตรียม ดินสอ/ปากกา สมุด และปากกาเน้นข้อความไว้ด้วยนะ
ข้อที่ 4.เริ่มอ่านวิชาที่จะต้องสอบก่อนเป็นวิชาแรกเลยค่ะ ตรงนี้แหละสำคัญมาก น้องๆอย่าอ่านๆๆๆๆๆแล้วก็อ่านเพื่อให้จบ แบบผ่านๆนะค่ะ ต่อให้น้องๆอ่านสัก 10 รอบแล้วบอกคนอื่นๆว่า "ก็เค้าอ่านเป็นสิบๆรอบแล้วอ่ะ แต่ทำไมทำข้อสอบไม่ได้เลยน่ะ?" อ่ะๆๆๆ!!! อ่านสัก 100 รอบก็ไม่ช่วยอะไรหรอกเจ้าค่ะ อ่านแล้วต้องทำความเข้าใจไปด้วย ตรงไหนที่คิดว่าสำคัญๆ น้องๆก็เน้นตรงจุดนั้นไว้ อาจจะใช้วิธีการจดบันทึกไว้ หรือ เน้นข้อความด้วยปากกาสีต่างๆก็ได้ค่ะ เพื่อว่าจะได้กลับมาอ่านอีกครั้ง
ข้อที่ 5.นั้นงัยๆๆๆพี่บอกไปตะกี้เองนะค่ะว่าอย่าอ่านแบบผ่านๆ ดูสิ!!!น้องๆลองกลับไปอ่านข้อ 3 ใหม่สิค่ะ แล้วดูซิว่าที่ต่อจากข้อ 3 นะเป็นข้อที่เท่าไหร่ ข้อที่ 4หายไปๆๆๆๆ ส่วนน้องๆคนไหนสังเกตเห็นก่อนที่พี่เฉลย น้องก็ไม่มีปัญหาในเรื่องของการอ่านหนังสือแล้วละค่ะ เก่งมากๆเลย ส่วนน้องๆคนไหนที่ไม่ทันได้สังเกต ก็เอาจุดนี้เนี่ยแหละค่ะไปลองปรับใช้กับการอ่านหนังสือดูตามที่พี่บอกไว้ในข้อที่ 5 นะค่ะ
ข้อที่ 6.อ่ะ ต่อๆๆ การไม่ปล่อยให้ท้องว่างก็เป็นสิ่งสำคัญนะค่ะ ถ้าน้องๆอ่านๆๆๆหนังสืออย่างเดียวจนลืมทานข้าวแล้วละก็ นอกจากน้องๆจะอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องแล้ว อาจจะทำให้ป่วย และทำให้เป็นโรคกระเพาะได้ด้วยนะจ๊ะ สำคัญเลย ต้องหาอะไรทานเมื่อท้องว่างด้วยน้า...อย่าทรมาณตัวเองละ
ข้อที่ 7.ในการอ่านหนังสือ น้องๆควรเลือกเวลาที่รู้สึกว่าสมองเราพร้อมจะทำงานด้วยนะจ๊ะ แล้วเมื่อน้องๆรู้สึกว่าเริ่มอ่านไม่ไหวแล้วล่ะ อ่านนานมากไปทำให้ปวดตา ปวดหัว ให้น้องๆพักก่อน อาจจะหาอย่างอื่นทำ เช่นพักสายตาโดยการหาเพลงเพราะๆฟัง(อ่ะๆๆๆเลือเพลงที่ฟังแล้วจรรโลงใจด้วยละ ถ้าฟังเพลงที่หนักไป อาจทำให้ยิ่งปวดหัวมากกว่าเดิม ไม่รู้ด้วยนะเจ้าค่ะ) จะดูทีวี เล่นเกม หรือกิจกรรมอื่นๆที่ทำแล้วผ่อนคลายก็หามาลองทำกันดูนะเจ้าค่ะ แต่ๆๆๆๆแล้วก็แต่...อย่าพักจนเพลินละ เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายผ่อนคลายเพียงพอแล้วก็กลับเข้าสู่โหมดการอ่านหนังสือต่อเลยยย (เอาน่าๆทนเอาหน่อยนะเจ้าค่ะ สอบไม่ได้มีมาบ่อยๆ ตั้งใจให้สุดๆไปเลย)
ข้อที่ 8.นั้นแน่ๆ พี่รู้นะว่าน้องๆเริ่มใส่ใจในรายละเอียดในการอ่านกันบ้างแล้ว คงคิดใช่มั้ยละ ว่าพี่จะแกล้งทำให้ข้อไหนหายไปอีกน่ะ!!! ดีแล้วค่ะถ้าน้องๆคิดแบบนี้นะ เป็นการฝึกตัวเองไปด้วย ให้เป็นคนรอบคอบ ดีค่ะๆ อ่ะต่อๆ
ข้อที่ 9.อ้า....อ่านไม่ทันแล้วอ่ะ!!!ทำไงดีๆ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนๆคนอื่นๆเกือบทุกคนละค่ะ ที่สำคัญเลย อย่าตื่นเต้นจนรนล่ะ ตั้งสตินะค่ะตรงนี้สำคัญมากๆเลย ให้น้องๆหยุดอ่านหนังสือต่อสักพักนึง แล้วดูซิว่า...พรุ่งนี้เราสอบวิชาอะไรบ้าง แล้วหยิบวิชาที่สอบเป็นวิชาแรกมาอ่านทบทวนก่อนเลย แล้วก็ทบทวนวิชาอื่นๆต่อไป (ตรงถ้าคิดว่ากลัวอ่านไม่ทันรอบทบทวนให้น้องๆอ่านในส่วนที่เน้น ที่สำคัญๆเอาไว้ก่อนเลย จำได้มั้ยเอ๋ยว่าในการอ่านรอบแรกพี่ให้น้องๆจดบันทึกที่สำคัญๆไว้ที่คิดว่าน่าจะออก หรือส่วนที่มันยาก จำไม่ได้ก็นำมาอ่านก่อนเลย ตรงส่วนไหนที่น้องๆจำได้ หรือเข้าใจก็เปิดผ่านๆเลยค่ะ ตอนนี้เราต้องทำเวลาแหละน่ะ)
ข้อที่ 10.เอาละ...อ่านหนังสือสอบก็ต้องฟิสหน่อย น้องๆบางคนอาจจะอ่านหนังสือเร็วและเข้าใจง่ายทำให้การอ่านหนังสือไม่ค่อยมีปัญหาเลยก็ดีไป ส่วนน้องคนไหนเป็นคนที่อ่านหนังสือช้าก็ต้องขยันกว่าคนอื่นๆหน่อยแล้ว อาจจะทำให้อ่านหนังสือไม่ทัน ทำให้ต้องนอนดึกหน่อย ก็อย่าลืมดูแลตัวเองนะค่ะ หานมอุ่นๆหรือของว่างทานสักนิดนึง ใส่ใจในสุขภาพหน่อยนะค่ะ เพราะเดี๋ยวน้องๆอาจป่วยได้ แล้วเป็นงัยน่ะ ไปสอบไม่ได้ แย่เลยน่ะเจ้าค่ะ สำคัญเลย ถ้าอ่านหนังสือไม่ทันแล้วจริงๆ แต่ร่างกายเราไม่ไหวแล้ว อย่าฝืนนะค่ะ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น รีบเตรียมตัวเข้านอนกันดีกว่าค่ะ ตื่นเช้ามาจะได้สดชื่น แถมถ้าเราตื่นเร็ว ก็จะมีเวลาอีกนิดในการทบทวนก่อนเข้าห้องสอบนะค่ะน้องๆ

การอ่านให้เก่ง

ปัญหาของการอ่าน
1. ไม่อ่าน ข้อนี้หมายความว่า ไม่ว่าใครจะแนะนำสั่งสอนอย่างไรตนเองมีความจำเป็นจะต้องอ่านมากเพียงไร ก็ไม่อ่าน ไม่สนใจสิ่งใดในโลกทั้งสิ้น เรื่องนี้แก้ไขช่วยเหลือยากอยู่ อาจต้องฟื้นฟูสภาพจิตในกันก่อน
2. อ่านไม่ออก ข้อนี้แก้ไขได้ด้วยการเล่าเรียนศึกษา ถ้าคุณอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้วก็นับว่าโชคดีมาก เพราะมีเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่อีกหลายแสนคนในเมืองไทยที่มีโอกาสเรียนเท่าคุณ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสดีแล้วก็จงขยันหมั่นเรียน มิฉะนั้นจะมีสภาพอย่างนี้
ลางคนเกิดมา ไม่รู้วิชา เคอะอยู่จนโต
ไปเป็นข้าเขา เพราะเง่าเพราะโง่ บ้างเป็นคนโซ เที่ยวขอก็มีฯ
3. ไม่มีหนังสืออ่าน ถ้าคุณเข้าโรงเรียน อย่างน้อยก็มีหนังสือเรียนและหนังสือในห้องสมุดอ่านได้ นอกจากนี้ยังมีหนังสือตามร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย สถานที่ราชการต่างๆ โรงพยาบาล ตลอดจนที่ร้านหรือแผงหนังสือ ซึ่งลูกค้าจะเดินเข้าไปพลิกๆ อ่าน หรือยืนอ่านสักชั่วโมงหนึ่งโดยไม่ซื้อก็ย่อมได้ หอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดประชาชน ตลอดจน วัดวาอารามทุกศาสนา ก็มีหนังสือให้อ่าน กระทั่งถุงกระดาษที่ใส่ขอมาจากร้านค้า ก็มีหนังสือให้อ่าน
4. ไม่มีเวลาอ่าน ข้อนี้ยอมให้เป็นได้เพียงข้อแก้ตัวเท่านั้นคนที่อ่านได้มักจะได้อ่านอยู่เสมอ คนที่ชอบอ่านจะยิ่งเสาะแสวงหาอะไรต่ออะไรมาอ่านและยิ่งอ่านก็ยิ่งมีเวลาอ่าน ยิ่งลำบากก็ยิ่งอ่าน แม้ไม่มีเงินเรียนหนังสือก็ยังอ่าน
5. ไม่มีที่อ่าน ข้อนี้หมายความว่าผู้อ่านอาจต้องการสถานที่สงบสบาย บรรยากาศร่มรื่น มีเพลงไพเราะฟังเบาๆ ฯลฯ ข้อนี้ก็คล้ายๆ จะเป็นข้อแก้ตัวเหมือนกัน เพราะหากรักจะอ่านละก็ ต่อให้อึกทึกครึกโครมอย่างไรก็อ่านได้ สำคัญว่าเราต้องสนใจอ่านเท่านั้นเอง ถ้ามัวรอสร้างบรรยากาศอยู่ บางทีบรรยากาศนั้นอาจจะกลายเป็นผู้กล่อมให้ผู้อ่านหลับไปเลยก็ได้
6. อ่านช้า นักเรียน นักศึกษาเป็นอันมากมักบ่นว่า ตนอ่านหนังสือได้ช้า ที่ว่าช้านั้นคือไม่ทันใจ เพราะต้องอ่านมาก(ในเวลาใกล้จะสอบถ้าไม่จวนตัวย่อมไม่อ่าน...)ถ้าอย่างนั้น วิธีที่ควรทำให้สม่ำเสมอเป็นนิสัยก็คือ อ่านอยู่เป็นปกติด ตั้งแต่เริ่มเรียน แม้ในเวลาพักผ่อนก็ถือเอาการอ่านหนังสือเป็นเครื่องผ่อนคลาย แต่ถ้าอ่านเป็นประจำทุกวันอยู่แล้วก็ยังอ่านช้า คืออ่านไม่เข้าใจสักที ก็ต้องดูวิธีแก้ปัญหากันต่อไป
7. อ่านไม่เข้าใจ ผู้อ่านทุกคนต้องพบปัญหานี้เมื่ออ่านสิ่งที่ตนยังไม่คุ้นเคย อุปสรรคที่ทำให้เราไม่เข้าใจ สิ่งที่อ่านนั้นมีหลายอย่าง บางอย่างต้องแก้ไขที่ฝ่ายผู้เขียนและผู้ผลิต แต่บางอย่างก็แก้ไขที่ผู้อ่านแต่ละคน เป็นต้นว่า
ผู้เขียน(รวมถึงผู้แปลด้วย) ควรแก้ไขที่...การใช้ภาษายากเกินไปข้อความวกวน ความหมายซับซ้อน มีศัพท์เฉพาะศัพท์ต่างประเทศที่ยาก (และไม่อธิบาย) ไม่เรียงลำดับเรื่องจากง่ายไปยาก ฯลฯ
ผู้ผลิตควรแก้ไขที่...ตัวพิมพ์ ไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป บางเกินไปต้องพิมพ์ให้ชัดเจน ช่องไฟและเว้นวรรคเหมาะสม มีภาพประกอบตามสมควรเพื่อช่วยผ่อนคลาย และช่วยให้เข้าใจเรื่องดีขึ้น ฯลฯ
ส่วนผู้อ่านก็มีทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้หลายวิธี ตามที่จะได้อ่านต่อไป
8. อ่านแล้วไม่เกิดประโยชน์ ผู้อ่านบางคนอ่านอะไรก็ได้อ่านไปยังงั้นแหละ อ่านแล้วก็ไม่ได้ไปทำประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมแต่อย่างใด
การอ่าน...ควรช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ เช่นรู้ว่าในผักและผลไม้อาจมีสารพิษตกค้าง ก่อนกินควรทำอย่างไร หากบังเอิญกินแล้วเกิดอาการเป็นพิษจะแก้ไขอย่างไร
การอ่าน...ควรช่วยพัฒนาจิตในให้เจริญงดงามขึ้น เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ช่วยให้เกิดเมตตาจิต อ่านเกี่ยวกับธรรมชาติ ช่วยให้เกิดปรารถนาจะรักษาธรรมชาติไว้
การอ่าน...ควรช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น เด็กจะรู้วิธีประดิษฐ์ของเล่น หรือเครื่องใช้ง่ายๆ ได้เอง โดยใช้วัสดุเหลือใช้
การอ่าน...ควรช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต เช่น ก่อนจะไปหาซื้อของบางอย่าง อาจตรวจหาแหล่งผลิตหรือจำหน่ายได้จากสมุดโทรศัพท์ หรือใช้โทรศัพท์หาข้อมูลแทนการเดินทางจนสิ้นเปลืองก็ได้
การอ่าน...ควรช่วยพัฒนาอาชีพ สำหรับคนที่ยังไม่มีอาชีพก็อาจอ่านพบตัวอย่างบุคคลซึ่งพัฒนาอาชีพของตนด้วยวิธีต่างๆ จึงเกิดแนวคิดในการเลือกอาชีพที่ตนถนัด หรือสามารถสร้างอาชีพแล้วก็อาจได้แนวทางจากการอ่านไปพัฒนาอาชีพให้ได้ผลประโยชน์ยิ่งขึ้น และเสริมสร้างให้ตนเองเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือสังคมให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ฯลฯ

ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสมรรถภาพการอ่านด้วยตนเอง ถือว่าเป็น

บันไดเก้าขั้นสำหรับการอ่านให้เก่ง
เมื่อลงมืออ่าน ให้ค่อยๆ อ่านไปรวดเดียวจบ 1 จบ แล้วทบทวนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง หัวข้อเหล่านี้คล้องจองกันอยู่แล้ว ช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นอย่างน้อยเมื่อเอ่ยชื่อหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งขึ้นมา ผู้อ่านจะพอสรุปได้ว่าเรื่องราวในหัวข้อนั้นมีว่าอย่างไร
บันได้ขั้นที่ 1 มีสมองไว้คิด
การคิดคือปัจจัยเบื้องต้นของการเข้าใจ การอ่านโดยไม่คิดก็เท่ากับการเสียเวลาเพราะหากคุณไม่เข้าใจก็ย่อมไม่ได้ความรู้ความคิด หรือข้อมูลไปทำอะไรได้
การคิดคืออะไร? การคิดคือปฏิกิริยาของผู้อ่านต่อสารที่เข้ามา จะเข้าโดยการเห็นหรือการฟังหรือโดยทั้งสองอย่างพร้อมกัน(อย่างดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์) ก็ได้ ปกติแล้วเราจะไม่ปล่อยภาพหรือตัวหนังสือ หรือเสียงให้ผ่านไปเฉยๆ เราจะรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ เกิดอารมณ์ตามไป คิดตามไปว่าจริงหรือไม่จริงที่เขาโฆษณากันสารพัดทุกวันนี้
- การคิดคืออะไร
- คิดเพื่อถาม
- ถามแล้วตอบ
บันไดขั้นที่ 2 ทำจิตให้แจ่มใส
การอ่านด้วยการ คิด กันอย่างมีหลักการ และ คิด อย่างสนุกน่าสนใจด้วยนั้นทำได้จริงหรือ? แน่นอนว่าคุณจะ คิด ได้ดีก็ต่อเมื่อมีจิตใจแจ่มใส ความแจ่มใสนี้ทำให้เกิดสมาธิ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการอ่านให้เข้าใจ จำได้แม่นยำและทำโจทย์หรือแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อจะอ่านอะไรก็ตามคุณควรรู้ว่าต้องการความตั้งใจเพียงใด การคิดไปจดไป เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างสมาธิ เพราะสมอง สายตา และมือ ทำงานประสานกันสม่ำเสมอ การเขียนเป็นตัวช่วยให้เราต้องกลั่นกรองข้อมูลในสมองเสียก่อน เรียบเรียงถ้อยคำให้กระชับรัดกุมแล้วจึงจดแบบสรุป
ดังนั้น การสร้างบรรยากาศภายนอกและภายในจิตในให้น่าอ่านให้เกิดสมาธิได้นานพอควรนั้นอยู่ที่ตัว ผู้อ่านเองเป็นส่วนใหญ่แต่หากอุปสรรคต่างๆ นั้นมีผู้อื่นก่อขึ้นก็พยายามหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเท่าที่จะทำได้แล้วปรับตัวเองให้เป็นนักอ่านได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดเพราะตัวคุณเป็นคนเรียน เป็นคนสอบ หรือเป็นคนที่ต้องทำงานด้วย การอ่าน ถ้าเกิดล้มเหลว คุณ เป็นคนล้มเองมิใช่ผู้อื่น
- สร้างสมาธิ
- จดแก้ง่วง
- หิว – กิน ง่วง – นอน
- อย่าอ่านบนเตียง อย่านอนอ่าน
- แสงสว่างพอดี
บันไดขั้นที่ 3 สนใจอ่านทุกหนังสือ(อ่านหนังสือทุกชนิด)
อย่าเอาแต่อ่านตำราเรียนอย่างเดียว ควรเปิดหูเปิดตาให้กว้าง อ่านให้หลากหลาย มิฉะนั้นคุณอาจกลายเป็นคนประเภท รู้มากยากนาน เพราะรู้ไม่รอบหรือมองโลกในแง่เดียวก็ได้
- อ่านหนังสือทุกชนิด
- สนใจอ่านเพราะอะไร
- การสร้างความสนใจ
บันไดขั้นที่ 4 อย่าถือ “ดิค” เป็นคัมภีร์
ดิค ก็คือ ดิคชันนารี หรือพจนานุกรม ปทานุกรม อักขรานุกรม ฯลฯ ซึ่งอธิบายคำศัพท์ภาษาเดียวกันก็ได้ หรือต่างภาษาก็ได้ แต่ละคนกว่าจะเรียนจบก็ได้ถือ ดิค ติดมือกันมาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนกระทั่ง ดิค เปื่อยยุ่ยคามือ แต่อาจสอบตกวิชานั้นๆ ก็ได้ ผู้อ่านพึงมีความคิดและความสามารถพื้นฐานสำหรับใช้พจนานุกรมให้ถูกวิธี คือ
- รู้ลำดับอักษร
- เดาและใช้บริบทก่อนหาศัพท์
- รู้หน้าที่ของคำ
- เลือกความหมายที่เหมาะสม
- เข้าใจก่อนจด
- สอบทานความหมาย
- ถามผู้รู้

บันไดขั้นที่ 5 อย่าอ่านจี้เป็นคำๆ
หากคุณอยากจะอ่านอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต้องอ่านแบบกวาดสายตา หรืออ่านเป็นหน่วยข้อความ คือจะหยุดสายตาก็ต่อเมื่อได้ความหมายจากการอ่านข้อความช่วงหนึ่งๆ แล้ว ช่วงข้อความที่มีความหมายต่อคุณนั้นอาจจะสั้นเพียงคำเดียวหรืออาจจะยาวกว่าหนึ่งบรรทัดก็ได้
- จงอ่านเป็นหน่วยข้อความ
- จับหนังสือให้ถูกท่า
- กวาดสายตาทีละหน่วยข้อความ
- อ่านรวดเดียวให้จบเรื่อง
- อย่ามองข้ามคำเล็กๆ
บันไดขั้นที่ 6 ฝึกการจำความย่อๆ
วิธีการจำน้อยแต่ได้ความมาก คือ
1. ทำเครื่องหมาย โดยใช้อุปกรณ์ เช่น ดินสอ ดินสอสี ปากกาเมจิก ปากการสะท้อนแสง ขีดเส้นใต้ ขีดทับคำหรือข้อความ
2. ทำบันทึกสรุปแนวคิดหลัก ของแต่ละย่อหน้า หรือแต่ละ ข้อความ เพื่อจะได้ไม่ต้องย้อนมาอ่านหนังสือใหม่อีก
3. การสร้างแผนภูมิ วิธีนี้เป็นการบันทึกที่สั้นที่สุด ครอบคลุมเนื้อหาได้มากที่สุด จำง่ายที่สุด

บันไดขั้นที่ 7 รู้จักขอความช่วยเหลือ
ในด้านการอ่าน หากอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็ควรฝึกฝนตนเองตามวิธีที่กล่าวมาหลายหน้านี้ก่อน หากจะปรึกษาตัวเองในการอ่านเรื่องราวหรือตำราที่ต่างๆ กันออกไป วิธีที่ดีที่สุดก็คือ “ตั้งคำถาม” เพราะคนที่ถามเป็น ถามตรงประเด็นนั้น นับว่าเป็นบัวเหนือน้ำแล้ว
คำถามข้อแรก ที่จะใช้ถามตัวเองได้ก็คือ ฉันจะอ่านสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ?
คำถามข้อที่สอง คือ อ่านอะไร? คุณควรเลือกหนังสือให้ตรงกับวัตถุประสงค์ก่อน วิธีง่ายๆ ก็คือ ดูชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง สารบัญ คำนำ อาจจะอ่านบทแรกสักนิดบทสุดท้ายสักหน่อย แล้วก็ดู ดัชนี ซึ่งหนังสือสมัยใหม่ส่วนมากทำไว้ท้ายเล่ม เพื่อดูว่าใช่เล่ม หรือเรื่องที่ต้องการแน่หรือไม่
คำถามที่สามก็คือ จะอ่านวิธีใด? เพราะหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน แม้หนังสือเล่มเดียวกัน คุณอาจจะมีวัตถุประสงค์ของการอ่านแต่ละครั้งต่างๆ กันไป บางคราวต้องอ่านคร่าวๆ
- ปรึกษาตนเองก่อน
- ปรึกษาครู
- ค้นคว้าจากหนังสือ
บันไดขั้นที่ 8 อ่านไม่เบื่อทุกวิชา
คุณจะประสบความสำเร็จในการเรียนทุกๆ วิชา แม้แต่วิชาที่ไม่ชอบ เพราะจุดประสงค์ของการศึกษา คือ สอบผ่านและทำงานได้ดี ถ้าคุณอ่านเก่ง คุณจะรู้ว่าทุกวิชา ทุกเรื่องราว มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น การรู้วิชาต่างๆ ให้ดีพอจะช่วยเสริมความรู้ซึ่งกันและกันไปเองโดยอัตโนมัติ และช่วยให้เห็นหนทางที่จะนำทางที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
- พลังการอ่าน
- นำความรู้ไปใช้
- อ่าน อ่าน อ่าน
บันไดขั้นที่ 9 ชีวิตมีค่าและประสบความสำเร็จ
การอ่านที่ดีนั้น ได้กล่าวแล้วว่า มิใช่มีแต่การอ่านเพื่อเรียนเท่านั้นเมื่อคุณพัฒนาความสามารถของตนเองขึ้นมาแล้ว ผลที่ตามมาจะมิได้มีอยู่เฉพาะตัวเอง เพราะคุณรู้ว่ายังมีคนอีกมากที่ด้อยโอกาสเพราะเขาอ่านไม่เป็น ไม่อ่าน หรือมีปัญหาการอ่าน หากคุณมีโอกาสจะช่วยผู้อื่นได้ก็นับได้ว่าคุณเป็น เพื่อน คนหนึ่งที่ทุกคนต้องการคบหา
การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญและการอ่านเร็ว
ผู้อ่านทั้งหลายย่อมปรารถนามีความสามารถดังต่อไปนี้
1. อ่านได้เร็ว
2. เข้าใจทุกเรื่องที่อ่าน
3. ใช้เวลาอ่านแต่น้อย ได้ประโยชน์จากการอ่านมากๆ
4. มีเวลาอ่าน มากพอที่จะอ่านได้ตามต้องการ
5. อ่านแล้วจำได้มากที่สุด
6. นำความรู้ ความคิด และสาระอื่นๆ ไปใช้ได้ผลดี และมากที่สุด




ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล. (2544). การอ่านให้เก่ง. พิมพ์ครั้งที่ 9 .กรุงเทพฯ : กระดาษสา.

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

108 วิธีประหยัดพลังงาน

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ในขั้นวิกฤติเราเป็นหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศเกือบสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประชาชนคนไทยทั้งหลายต่างก็มีความห่วงใยในประเทศชาติ มีความรักชาติที่เข้มข้น และอยากที่จะช่วยชาติ ซึ่งนับว่าเป็นความสามัคคีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ในยามคับขันคนไทยพร้อมจะช่วยชาติ บ้างก็นำเงินดอลล่าร์มาบริจาค บ้างก็สละเงินทองทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้หนี้ แต่ยังมีอีกวิธีที่ทุกๆคนสามารถช่วยชาติได้เช่นกัน นั่นก็คือ การลดการใช้พลังงานอย่างฉับพลันทันที ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้น้ำมันลง ลดใช้ไฟฟ้าลง หรือลดใช้น้ำลง
ปัจจุบัน เราต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศถึงปีละเกือบสามแสนล้านบาท มากถึงหนึ่งในสามของหนี้ที่เรามีอยู่พลังงานที่เราใช้มากมายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ใช้มากเกินความจำเป็น ขาดความเอาใจใส่ รอบคอบ ไม่ได้คิดก่อนใช้ ทำให้เกิดการรั่วไหล สูญเปล่าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จริงๆ แล้ว หากเรารอบคอบกันสักนิดคิดก่อนใช้ เราจะประหยัดพลังงานลงได้อีกอย่างน้อยก็ร้อยละ 10นั่นหมายถึง การประหยัดเงินที่ต้องใช้จ่ายออกไปนอกประเทศเกือบสามหมื่นล้านบาททีเดียว
108 วิธีประหยัดพลังงานที่ท่านอ่านอยู่นี้ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นคู่มือ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยได้เข้าใจถึงการใช้พลังงานอย่างถูกต้อง ไม่เกิดการสูญเสีย ไม่ใช้มากเกินความจำเป็นการลดการใช้พลังงานของพวกเราทุกคน ย่อมหมายถึงการมีส่วนได้ช่วยชาติ โดยที่เราแทบไม่ต้องออกแรง หรือ ทรัพย์สินเงินทองอื่นใด เพียงความใส่ใจและความตั้งใจจริงที่จะลดการใช้พลังงานส่วนเกินให้หมดไปเท่านั้น
ปี 2541 ถึง ปี 2542 เป็นช่วงเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้จัดให้เป็นช่วงเวลาของการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้โครงการรวมพลัง หาร 2 โดยใช้แนวความคิดของการประหยัด 1 คัน 1 ดวง และ 1 แก้ว ซึ่งมีรายละเอียดของแนวความคิดดังที่จะได้กล่าวต่อไป
รถ 1 คัน
ปลายปี 2540 ประเทศไทย มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอยู่ทั้งหมด 2.1 ล้านคันรถยนต์แต่ละคัน ใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 100 บาทถ้ารถทุกคันงดการใช้รถยนต์เหล่านี้สัปดาห์ละ 1 วัน จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้= 2.1 ล้านคัน x 100 บาท= 210 ล้านบาท/สัปดาห์= ประหยัดเงิน 10,920 ล้านบาท/ปี (210 ล้านบาท x 52 สัปดาห์)
ไฟ 1 ดวง
ประเทศไทยมีครัวเรือนรวมประมาณ 12 ล้านครัวเรือนหากแต่ละครอบครัวช่วยกันปิดไฟ 1 ดวง (หลอดไส้ 60 วัตต์) เป็นเวลา 1 วัน เราจะประหยัดไฟได้ 4 ล้าน กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน=(60 วัตต์ x 6 ชม* x 12 ล้านครัวเรือน)ค่าผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 1 หน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) คือ 2.2 บาท (รวมค่าพลังงานที่ใช้ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า)การประหยัดไฟ 4 ล้านหน่วย/วัน จึงคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8.8 ล้านบาท/วัน หรือ 3,212 ล้านบาทต่อปี=(8.8 ล้านบาท x วัน)* ครอบครัวหนึ่งเปิดหลอดไส้ ประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวัน
น้ำ 1 แก้ว
การลดการใช้น้ำคนละ 1 แก้ว/วัน ประเทศไทยจะสามารถประหยัดน้ำได้ 30,000 ตัน/วัน= (0.5 ลิตร x 60 ล้านคน) หรือเท่ากับน้ำ 11,000 ล้านลิตร/ปีเนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำประปาคือ 8.60* บาท/ลูกบาศก์เมตร(หรือ 8.60 บาท/1,000 ลิตร)การลดการใช้น้ำ 1 แก้วทุกวัน จะประหยัดเงินได้ 94.6 ล้านบาท/ปี= (11 ล้านตัน x 8.6 บาท/หน่วย)* ข้อมูลจาก กองเผยแพร่ การประปานครหลวง

สูตรง่ายๆ อย่างนี้ หากพวกเราคนไทยทุกคนร่วมมือกัน เราจะช่วยชาติประหยัดเงินทองที่จะต้องใช้ซื้อหาพลังงานได้มหาศาล เป็นการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง เริ่มต้นปฏิบัติสูตรง่ายๆ ข้างต้นตั้งแต่วันนี้แล้วปฏิบัติให้เป็นนิสัยตลอดไป เพื่อเก็บรักษาพลังงานที่เหลือน้อยเอาไว้ใช้นานๆ และเพื่อลดภาระของประเทศชาติในการจัดหาพลังงานมาให้พวกเราใช้กัน
นอกจากสูตรง่ายๆ ข้างต้นแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ขอมอบ108 วิธีการประหยัดพลังงานที่คนไทยทุกคนสามารถที่จะนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้โดยไม่ยากลำบากอะไร ไว้เป็นแนวทางเพื่อให้ทุกคนนำไปปฏิบัติให้เป็นนิสัยตลอดไป โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ แล้วทำต่อๆ ไป ทุกๆ วัน และแนะนำให้คนอื่นได้ร่วมประหยัดพลังงานด้วยค่ะ



เพื่อนมีวิธีการประหยัดพลังงานแบบไหน?
ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่นี่คะ
ทีมงานวิเคราะห์ระบบมีของรางวัลให้นะคะ...

รวมภาพบอร์ดรณรงค์ประหยัดพลังงานในวพ.

ฝั่งอำนวยการ




ฝ่ายวิชาการ

ฝั่ง Pre-Press
ฝั่งจำหน่าย



วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ความเป็นมาของวันแม่




ความเป็นมาของ “วันแม่” นั้น กล่าวกันว่า ชาวอเมริกันเป็นผู้กำหนดให้มีขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยนางแอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟียเป็นผู้เรียกร้องให้มีขึ้น และต้องใช้ความพยายามร่วมสองปีจึงประสบผลสำเร็จ ซึ่งในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ ประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือเอาวันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมเป็น “วันแม่แห่งชาติ” และใช้ “ดอกคาร์เนชั่น” เป็นสัญลักษณ์วันแม่ โดยมี ๒ แบบคือ ถ้าแม่มีชีวิตอยู่ ให้ใช้ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ใช้ดอกคาร์เนชั่นสีขาว

ส่วนในประเทศไทย มีการจัดงานวันแม่ครั้งแรก โดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่สวนอัมพร แต่เนื่องจากช่วงดังกล่าวเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ต้องงดจัดในปีต่อไป และต่อมาแม้จะมีหลายหน่วยงานได้พยายามรื้อฟื้นจัดขึ้นอีก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนด “วันแม่” หลายครั้ง
จนเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะรัฐมนตรีสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีประกาศรับรองให้วันที่ ๑๕ เมษายนของทุกๆปี เป็น วันแม่ โดยเรียกว่า “วันแม่ของชาติ” และมอบหมายให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้จัดงานเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นครั้งแรก และได้รับความสำเร็จด้วยดี มีประชาชนและหน่วยงานต่างๆให้การสนับสนุนจัดงานกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้นมา
และยังมีการประกวดแม่แห่งชาติ และคำขวัญวันแม่ เพื่อให้เกียรติและเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้ยิ่งๆขึ้นไปด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนใหม่ โดยให้ถือว่าวันที่ ๑๒ สิงหาคม อันเป็น วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็น “วันแม่แห่งชาติ” และกำหนดให้ใช้ “ดอกมะลิ” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่



ดอกมะลิกับ "วันแม่"








การที่ใช้ “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์วันแม่ ก็เพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมที่หอมไปไกลและหอมได้นาน ผลิดอกได้ทั้งปี อีกทั้งยังนำไปปรุงเป็นเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ลึกซึ้งที่แม่มีต่อลูก เป็นความรักที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีพิษมีภัย มีแต่ความชุ่มชื่นใจดั่งความหอมของดอกมะลิ.

13 วิธีแก้วิกฤติ 'โลกร้อน' ที่ออฟฟิศ

ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักในอันตรายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างที่ผ่านไปหมาดๆ กับ “Live Earth” คอนเสิร์ตชีวิตและโลกที่จัดพร้อมๆ กันถึง 9 เวทีทั่วโลกภายใต้การผลักดันของอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ของสหรัฐอเมริกา อย่ากระนั้นเลย แม้เราจะแค่ทำงานอยู่ในออฟฟิศก็สามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือในการกู้วิกฤตโลกร้อนได้ ด้วยวิธีที่คัดสรรมาที่ล้วนง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากทั้งนั้น
01. การปิดไฟและปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานให้ติดเป็นนิสัย ก่อนจะออกไปทำธุระที่กินเวลาค่อนข้างนานข้างนอก แม้แต่ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน หรือช่วงพักเบรคเพื่อให้สมองปลอดโปร่งก่อนกลับมาลุยงานต่อ ถ้าพนักงาน 10 ล้านคนปิดไฟที่ไม่ใช้วันละ 30 นาที ก็เพียงพอแล้วสำหรับเก็บพลังงานดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่สำนักงานแห่งอื่นๆ อีกตั้ง 50 ล้านตารางฟุต
02. หลายคนอาจเคยได้รับจดหมายหรือแคตตาลอกขายสินค้า เพราะบังเอิญว่าไปสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตการ์ด หรือบัตรส่วนลดช็อปปิ้ง รู้หรือไม่ว่ามีการทำสำรวจจากหลายสถาบันระบุว่าครึ่งหนึ่งของจดหมายขยะมักไม่ถูกเปิดอ่านเลย นั่นหมายความว่าต้นไม้ 62 ล้านต้นและน้ำอีก 28 พันล้านแกลลอนต้องสูญเปล่าไปกับกระบวนการผลิตกระดาษที่สูญเปล่า ทางที่ดีก่อนที่นำจดหมายขยะไปทิ้งเหมือนทุกครั้ง อย่าลืมโทรแจ้งกับบริษัทต้นทางที่ส่งจดหมายแล้วบอกว่าคุณไม่ต้องการจะรับจดหมายนี้อีกแล้ว และให้เหตุผลเก๋ๆ ไปว่าเพราะต้องการ “ลดปัญหาโลกร้อน” หรือถ้าอยากจะส่งก็ส่งมาทางอีเมล์แล้วกัน
03. กดปุ่มปิดหน้าจอมอนิเตอร์หรือจอคอมพิวเตอร์ หรือปิดเครื่องเมื่อไม่ใช้งาน ส่วนความคิดที่ว่าการใช้ภาพเคลื่อนไหว 3 มิติมาช่วยรักษาหน้าจอขณะไม่ใช้งานนั้นไม่ได้ช่วยลดปัญหาโลกร้อนเท่าไร เพราะภาพกราฟิกที่ใช้พักหน้าจอหรือสกรีนเซฟเวอร์ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าช่วยยืดอายุการใช้งานของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้นานขึ้นเท่านั้น เอาไว้ถ้าไปไหนสัก 5 -10 นาทีแล้วจะกลับมาทำงานต่อค่อยใช้ฟังก์ชั่นดังว่าแล้วกัน
04. ใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปจะประหยัดพลังงานกว่าคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป
05. หันมาใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ อันนี้ขึ้นอยู่กับความอึดของแต่ละคน เดินขึ้นลงบันไดชั้นสองชั้นก็น่าจะเพียงพอ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานยังได้บริหารร่างกายไปด้วย
06. เอกสารภายในสำนักงาน พวกจดหมายเวียนหรือเมโมที่ไม่ค่อยเป็นทางการนัก หากจำเป็นปรินต์ก็อย่าลืมใช้กระดาศรียูส (Reuse) และเปลี่ยนโหมดปรินเตอร์ให้เป็นแบบขาวดำ ไม่ใช่ว่าเน้นนโยบายประหยัด (ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีนะจะว่าไปแล้ว) แต่การที่ปรินต์เอกสารโดยใช้หมึกขาวดำจะช่วยลดการใช้น้ำยาปรับสี ส่วนกรณีที่จะปรินต์เอกสารหลายเหมือนๆ กัน ก็เลือกใช้กระดาษที่มีสำเนา07. ถ้าต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าออฟฟิศ เลือกชิ้นที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
08. บางครั้งการทำงานนอกออฟฟิศ หรือบางอาชีพ เช่นนักเขียนที่บางวันไม่จำเป็นต้องเข้าที่ทำงาน แต่สามารถนั่งทำงานอยู่ในบ้านได้ก็จะช่วยลดการใช้รถใช้ถนน รวมถึงการใช้เครื่องมือสื่อสารเช่นโทรศัพท์มือถือให้เป็นประโยชน์ในกรณีที่ต้องแจ้งกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานโดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศ ก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้เหมือนกัน หรือใครมุ่งมั่นสุดๆ อาจไม่ขับรถมาทำงานในบางวัน แล้วลองหันไปนั่งรถโดยสารสาธารณะ หรือรถไฟใดดิน, รถไฟฟ้า ก็จะลดปัญหาโลกร้อนได้อีกวิธีหนึ่ง
09. แนวคิดนำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ยังใช้ได้อยู่ ในปีหนึ่งๆ ชาวอเมริกันมีขยะกระดาษมากถึง 35 ล้านตัน พวกเขาจึงคิดใช้ประโยชน์จากขยะกระดาษด้วยการนำไปผลิตกระดาษนำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการก่อมลภาวะทางอากาศได้ถึงร้อยละ 74 แถมยังลดการตัดไม้ทำลายป่าด้วย
10. เวลาเลือกซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ควรตรวจดูว่าสินค้าชิ้นนั้นๆ ผลิตจากวัสดุใช้แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าของชิ้นนั้นมีวัสดุที่ใช้แล้วมากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ซื้อสินค้าที่โรงงานผลิตต้องนำวัสดุใหม่มาเป็นส่วนประกอบเลย รวมถึงการเลือกซื้อกระดาษที่ไม่ได้ใช้สารคลอรีนฟอกก็จะช่วยลดการก่อมลภาวะได้มากกว่ากระดาษทั่วไป
11. บางออฟฟิศมีแก้วกระดาษเล็กๆ สำหรับผู้รับแขก หรือพนักงาน หากเลี่ยงได้ก็อย่าใช้ ให้นำแก้วส่วนตัวมาจากบ้าน ใช้แล้วล้างก็จะใช้ได้อีกเรื่อยๆ (อย่าลืมว่ากระดาษผลิตมาจากต้นไม้ที่สร้างความร่มเย็นแก่โลกนะจ๊ะ) หรืออย่างที่เมืองนอก ในร้านกาแฟสตาร์บั้ค เขาก็มีนโยบายการนำแก้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดค่ากาแฟให้ถูกลงด้วย
12. ทำงานโดยอาศัยแสงธรรมชาติบ้าง (ถ้าจุดที่คุณทำงานมีแสงธรรมชาติส่องถึง)
13. ข้อนี้ที่สุดของที่สุดเลย แม้ว่าเราจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแล้วก็ใช้ว่าจะไม่สิ้นเปลืองพลังงาน เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่าง อย่างเช่นสายชาร์จโทรศัพท์มือถือหรือจะเป็นอแด๊พเตอร์สำหรับแล็ปท็อปที่ไม่ถอดปลั๊กออก จะกินไฟมากกว่า 20 วัตต์ การสูญเสียพลังงานแบบไม่ได้ถอดปลั๊กนี้ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 12 ล้านตันทีเดียวรู้อย่างนี้จะอ้างว่าวันๆ ทำงานที่ออฟฟิศ จนไม่มีเวลาออกไปทำกิจกรมปลูกต้นไม้หรือกิจกรรมรณรงค์ลดปัญหาโลกร้อนกับคนอื่นๆไม่ได้แล้วนะ

เพื่อนๆ มีวิธีลดโลกร้อนแบบไหน? ลองเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันได้นะคะ ทีมงานวิเคราะห์ระบบมีรางวัลให้ค่ะ

การบริหารการเปลี่ยนแปลง

อำนาจ วัดจินดา วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการองค์กร vatjinda@yahoo.com
ในปัจจุบันมนุษย์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการวิจัยและพัฒนาโดยใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การตัดต่อทางพันธุกรรม การโคลนนิ่ง หรือการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร ทั้งในแบบมีสาย และไร้สาย แต่สิ่งที่มนุษย์เรายังไปสามารถควบคุมหรือเอาชนะได้นั่นคือความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น และกำลังมีแนวโน้วไปในเชิงรุ่นแรงมากขึ้นโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ในมิติทางการบริหารก็เช่นเดียวกัน การดำเนินงานขององค์กรก็ย่อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภายในและภายนอก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างอยากที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้นนักบริหารคงต้องมีความรู้ความเข้าใจและ ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง ที่พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และคงต้องเรียนรู้วิธีการ หรือเทคนิคต่างๆเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) คืออะไร จากการประมวลความหมายของการบริหารการเปลี่ยนแปลงสรุปความหมายได้ว่า “การจัดการกับเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีเหมาะสมทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”
รูปแบบของการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงเชิงรุก(Proactive)
เป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงจากผู้อื่นซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์ และแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมการรองรับ ซึ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลในเชิงลบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อาจบรรเทาเบาบางลง
การเปลี่ยนแปลงเชิงรับ(Reactive)
เป็นการถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้อื่นตัวเองไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง หรือมีความคิดติดยึดในแนวทางเดิมๆมานาน ซึ่งอาจไปเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในแนวนี้ผลร้ายมักเกิดขึ้นต่อผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง
ช่วงของกระบวนการเปลี่ยนแปลง
ช่วงละลายพฤติกรรม (Unfreezing)
เป็นความพยายามละลายระบบ หรือรูปแบบพฤติกรรมเดิม เปรียบเสมือนละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำ ทั้งนี้ จะต้องทำให้บุคคลรู้สึกมีความมั่นคง และหลีกเลี่ยงการคุกคาม หรือทำให้รู้สึกว่ามีความเสี่ยง โดยใช้วิธีการจูงใจทั้งเชิงบวกและลบในการบริหารงาน
ช่วงการเปลี่ยนแปลง(Changing)
เป็นช่วงที่เป็นการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่จนนำไปสู่พฤติกรรมที่องค์การพึงปรารถนา โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การสอนงาน การพัฒนา ฝึกอบรม ฯลฯ
ช่วงตกผลึกอีกครั้ง(Refreezing)
เป็นช่วงที่พฤติกรรมใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้เริ่มจะอยู่ตัวจึงต้องมีการเสริมแรงให้พฤติกรรมธำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการจัดทำเป็นระบบ มาตรฐาน และมีกระตุ้นและจูงใจให้บุคคลปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการบริหารความเปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง(Change Agent)
บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารคือการเป็นผู้นำสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชากล่าวคือต้องเป้นตัวอย่างที่ดี ดังนั้น การแสดงบทบาทที่สนับสนุนมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอคงต้อง ริเริ่มหรือกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นด้วย
ต้องบริหารเชิงรุก หรือ Proactive
การบริหารที่ต้องมีการคาดการณ์และว่างแผนไว้ล่วงหน้าอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆที่ อาจเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการบริหารเชิงรุกซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” นั่นเอง
ต้องพิจารณาทบทวนองค์ประกอบหลัก 3 ประการในความรับผิดชอบ ได้แก่
โครงสร้างของการบริหาร (Structure)ในองค์กรต่างๆย่อมมีการจัดหน่วยงานต่างๆที่ทำหน้าที่อันหลากหลายแตกต่างกัน การพิจารณาว่าหน่วย งานดีควรเพิ่มบทบาทหน้าที่หรือลดบทบาท เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องทบทวนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
กระบวนการในการทำงาน (Process) วิธีการทำงานเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความทันสมัย หรือความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งการบงชี้ว่าองค์กรใดมีกระบวนการทำงานที่ดีในมีติของการเปลี่ยนแปลงคงต้องพิจาราณาว่ามีการคิดระบบใหม่ ๆ มาใช้หรือไม่ ซึ่งการคิดกระบวนการหรือวิธีการใหม่นั้น อาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ คิดกระบวนการใหม่ที่มีรากฐานมาจากกระบวนการเดิมๆอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Radical Change) จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม
บุคลากร ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารการเปลี่ยนแปลงคือบุคลากรหรือคนที่ดำรงอยู่ในองค์กรซึ่งต้องมีการ สำรวจความพร้อม โดยต้องเริ่มจากสภาพปัจจุบันว่ามีวัฒนธรรมการทำงานเช่นไร มีความรู้ความสามารถ และ มีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนั้นๆหรือไม่อย่างไร ซึ่งคงต้องนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับภาวะที่ต้องการ เปลี่ยนแปลง โดยต้องหาช่องว่างเพื่อพัฒนาบุคลากรต่อไป
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติซึ่งในทางพุทธศาสนากล่าวว่าสิ่งใดในโลกล้วนอนิจจัง คือความไม่เที่ยงยอมมีการเปลี่ยนแปลงดังนั้นการที่จะบริหารงานให้ได้รับประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงคงต้องมีความรู้และความเข้าใจต่อเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพื่อความสำเร็จขององค์กรเอง

รวมภาพกิจกรรมสร้างความสุขของทีมงานวิเคราะห์ระบบ

ทีมงานวิเคราะห์ระบบเน้นการสร้างความสุขภายในส่วนงาน


เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีภายในทีมงานฯ ค่ะ



วันนี้มีภาพบรรยากาศที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ









ทีมงานฯ ล่องเรือชมวิวธรรมชาติสองข้างทาง คลองดำเนินสะดวก



หัวหน้าทีมของเราค่ะ คุณเซฟ
สมาชิกทีมวิเคราะห์ระบบ คุณกิ๊ฟ และ คุณยุ้ย
อีกหนึ่งท่าน คุณเงาะสุดสวย ค่ะ (เค้าบอกว่า เยี่ยม จริงๆ)


ยังมี คุณจุ๋มผู้น่ารัก และคนสุดท้าน พี่แหม่ม





นางแบบ สวยที่สุด

ทีมงานยกขบวนไปเพิ่มความรู้รอบตัว ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งสยามค่ะ



หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ถ่ายรูปกับ หุ่นขี้ผึ้ง คุณสืบ นาคะเสถียร

แล้วเจอกันคราวหน้านะคะ
..................................................................

รวมภาพกิจกรรมวันสงกรานต์

ทีมงานวิเคราะห์ระบบเตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ไทยแด่ พี่น้องชาว วพ.



ทีมงานวิเคราะห์ระบบรดน้ำผู้บริหาร เพื่อขอพร และเพิ่มความร่มเย็นให้กับ วพ.







ทีมงานวิเคราะห์ระบบรดน้ำดำหัว ขอพรอาจาร์ยฝ่ายวิชาการ






และเพิ่มความร่มเย็นให้กับพนักงาน พี่น้องชาว วพ.













การพัฒนาตนเองจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ( p_arporn11@hotmail.com )
คุณเคยทำงานผิดพลาดบ้างหรือไม่ แล้วคุณเองรู้สึกอย่างไรต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงจะประสพหรือเผชิญกับการทำงานที่ผิดพลาดไปไม่มากก็น้อย ทั้งนี้รูปแบบของการทำงานที่ผิดพลาดนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในลักษณะที่ต่างกัน เช่น
ความล่าช้าในการนำส่งมอบผลงาน – นำส่งงานให้กับหัวหน้างานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือพิจารณาไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด
ความไม่ถูกต้องของข้อมูล – ข้อมูลที่ให้ในเอกสาร รายงาน จดหมาย หรือแบบฟอร์มต่าง ๆ ไม่ถูกต้อง มีการแก้ไขอยู่บ่อยครั้ง
ความไม่พร้อมขอข้อมูล อุปกรณ์ และเครื่องมือ – คุณเตรียมข้อมูล อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ไม่ครบถ้วน มีผลทำให้งานที่กำลังหรือจะต้องดำเนินการต่อไปหยุดชะงัก
ลูกค้าร้องเรียน – ลูกค้าไม่ชอบหรือไม่พอใจในผลการทำงาน จึงร้องเรียนมายังหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือตัวคุณเองโดยตรง
คุณรู้ไหมว่าความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งต่อคุณทั้งในแง่บวก หรือทางที่ดี (Positive Thinking) และส่งผลต่อคุณในแง่ลบ หรือทางที่ไม่ดี ( Negative Thinking) ทั้งนี้ผลที่เกิด ขึ้นในแง่ลบต่อตัวคุณเอง ได้แก่
ผลงานที่หัวหน้างานประเมินคุณ – ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณเองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผลการทำงาน หรือ Performance ที่หัวหน้างานต้องประเมินคุณว่าคุณทำงานไม่ได้มาตรฐานหรือความคาดหวังที่หัวหน้างานต้องการ
โรคภัยถามหา – ซ้ำร้ายความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมักจะเป็นสิ่งตอกย้ำหรือบั่นทอนกำลังใจ สภาพจิตใจให้คุณมีคิดถึงแต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนถึงขนาดกลุ้มอกกลุ้มใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดแต่เพียงว่าเราไม่น่าจะทำสิ่งนั้น มันไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เราเป็นต้นเหตุให้ลูกค้ามีภาพพจน์ต่อหน่วยงานหรือต่อบริษัทที่ไม่ดี บางคนคิดมากเกินไปถึงขนาดเป็นไมเกรน เป็นโรคเครียด ต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ปิดกลั้นความคิดสร้างสรรค์ – ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่งผลต่อจินตนการหรือไอเดียใหม่ ๆ ไม่กล้าแม้จะปรับปรุงหรือพัฒนาระบบงานของตนเอง เหตุเพราะกลัวความผิดพลาดจะเกิดขึ้นอีก แบบว่าอยู่เฉย ๆ จะดีกว่า ขอแค่ทำงานตามที่มอบหมายก็พอแล้ว
ลาออกจากวงการ – บางคนขอยื่นใบลาจากบริษัท ไม่กล้าหรือไม่อยากสู้หน้าผู้คนในบริษัท โดยคิดแต่เพียงว่า " ความผิดครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ไม่น่าที่จะให้อภัย " โดยคิดไปเอง และบางคนถึงขนาดลาออกจากสายอาชีพหรือวงการของตนเอง เพราะอับอายในความผิดของตนจึงขอลาจากวงการไปเปลี่ยนอาชีพใหม่ที่ตนเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านนั้นมาก่อนเลย
ชีวิตนี้ไร้ค่า – บางคนคิดมาก ๆ โทษตัวเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น การตอกย้ำหรือการพูดว่าตัวเองตลอดเวลา จะส่งผลให้คุณเป็นโรคจิต โรคประสาท และบางคนถึงขนาดคิดทำร้ายตัวเอง ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป
คุณเห็นหรือยังว่าความคิดหรือมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแง่ลบนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวคุณ คงไม่มีใครอยากทำผิดพลาด ไม่อยากให้ความผิดนั้นเกิดขึ้นจนเป็นเหตุบริษัทต้องสูญเสียทรัพยากร ลูกค้า หรือเงินทอง และเมื่อไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดในการทำงานเกิดขึ้นแต่มันได้เกิดขึ้นไปแล้ว คุณจะคิดอย่างไรต่อสิ่งที่คุณทำผิดพลาดไป ทำไมคุณไม่เปลี่ยนจากการคิดในแง่ลบมาคิดในแง่บวกดูบ้าง เพราะถึงอย่างไรความผิดพลาดนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว คุณคงไม่สามารถหยุดยั้งหรือรั้งให้ความผิดพลาดไม่เกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้คุณเริ่มปรับเปลี่ยนตนเองใหม่ มองความผิดพลาดในทางบวกดูบ้าง โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
ยิ้มสู้ ยอมรับในความผิด ให้คุณมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเสมือนครูหรือเป็นบทเรียนอันมีค่าที่น่าจดจำ ยอมรับและยิ้มสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคุณเป็นคนทำผิดพลาดเอง โดยอย่าพยายามหาแนวร่วมหรือโทษผู้อื่น หากคุณทำผิดจริง คุณต้องยอมรับต่อตัวคุณเอง หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าคุณเป็นผู้ทำผิดพลาด และการยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาดเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของความเป็นผู้นำที่ดี
ปรับความคิดเพื่อพัฒนาตน อย่าให้ความผิดพลาดทำให้คุณไม่พัฒนาตนเอง ไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ คุณต้องยอมรับว่าความผิดพลาดย่อมต้องเกิดขึ้นได้กับทุกคน หนทางของชีวิตมิใช่โรยด้วยดอกกุหลาบที่ไม่มีขวากหนาม เพียงแต่ว่าคุณจะเผชิญกับขวากหนามที่มากมายกว่าคนอื่นไปได้หรือไม่ จงตระหนักไว้เสมอว่าขวากหนามคืออุปสรรคอันล้ำค่าที่ทำให้คุณเก่งและแกร่งขึ้น ผู้ได้เปรียบคือผู้สามารถเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคนั้นได้ และนั่นหมายความว่าคุณจะมีบทเรียนที่สามารถสอนหรือแนะนำคนรุ่นหลัง ๆ ของคุณเองได้
หาทางพัฒนาตนเองจากความผิด เมื่อคุณยอมรับและพร้อมที่จะสู้กับปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ขอให้คุณเริ่มตรวจสอบการทำงานของคุณเองว่า โดยถามตัวเองว่า
อะไรคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น – จัดทำตัวเลขในรายงานผิดพลาด และส่งมอบให้ลูกค้าล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด
อะไรคือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด – ข้อมูลที่ผิดพลาดและล่าช้านั้นเป็นเหตุให้ลูกค้าไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงขนาดฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล
สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความผิดพลาด – ขาดการตรวจสอบงานเท่าที่ควร เนื่องจากไว้วางใจให้ลูกน้องเป็นผู้ตรวจสอบ
มีวิธีการอย่างไรในการทำให้ความผิดพลาดลดลง – จัดสรรเวลาส่วนหนึ่งในการตรวจสอบงานของลูกน้อง และควรมีการติดตามงานจากลูกน้องบ่อยครั้งขึ้น
ตรวจสอบและประเมินตนเอง
ขอให้คุณเริ่มตรวจสอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าความผิดพลาดนั้นได้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ หากยังเกิดขึ้นอีก คุณไม่ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ แต่คุณควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม พยายามหาวิธีการเพื่อที่จะลดความผิดพลาดให้น้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงแค่คุณไม่นิ่งดูดาย ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้คุณเองจะต้องยอมรับว่าคุณทำงานผิดพลาด และก็จะพยายามปรับปรุงตนเองให้มากขึ้นกว่าเดิม คุณควรจะต้องถามตัวเองแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อมิให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จงมองความผิดพลาดในการทำงานเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาตนเอง ทุกคนย่อมทำผิดพลาดได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นอีก และเมื่อคุณรู้ว่าคุณทำงานผิดพลาด ยอมรับในสิ่งนั้น และพร้อมเสมอที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเอง คุณจะเป็นผู้หนึ่งที่ประสพความสำเร็จในหน้าที่การงานจากบทเรียนที่คุณประสพด้วยตนเอง
กิจกรรมแจกความรัก วันวาเลน์ไทน์