วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

การอ่านให้เก่ง

ปัญหาของการอ่าน
1. ไม่อ่าน ข้อนี้หมายความว่า ไม่ว่าใครจะแนะนำสั่งสอนอย่างไรตนเองมีความจำเป็นจะต้องอ่านมากเพียงไร ก็ไม่อ่าน ไม่สนใจสิ่งใดในโลกทั้งสิ้น เรื่องนี้แก้ไขช่วยเหลือยากอยู่ อาจต้องฟื้นฟูสภาพจิตในกันก่อน
2. อ่านไม่ออก ข้อนี้แก้ไขได้ด้วยการเล่าเรียนศึกษา ถ้าคุณอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้วก็นับว่าโชคดีมาก เพราะมีเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่อีกหลายแสนคนในเมืองไทยที่มีโอกาสเรียนเท่าคุณ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสดีแล้วก็จงขยันหมั่นเรียน มิฉะนั้นจะมีสภาพอย่างนี้
ลางคนเกิดมา ไม่รู้วิชา เคอะอยู่จนโต
ไปเป็นข้าเขา เพราะเง่าเพราะโง่ บ้างเป็นคนโซ เที่ยวขอก็มีฯ
3. ไม่มีหนังสืออ่าน ถ้าคุณเข้าโรงเรียน อย่างน้อยก็มีหนังสือเรียนและหนังสือในห้องสมุดอ่านได้ นอกจากนี้ยังมีหนังสือตามร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย สถานที่ราชการต่างๆ โรงพยาบาล ตลอดจนที่ร้านหรือแผงหนังสือ ซึ่งลูกค้าจะเดินเข้าไปพลิกๆ อ่าน หรือยืนอ่านสักชั่วโมงหนึ่งโดยไม่ซื้อก็ย่อมได้ หอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดประชาชน ตลอดจน วัดวาอารามทุกศาสนา ก็มีหนังสือให้อ่าน กระทั่งถุงกระดาษที่ใส่ขอมาจากร้านค้า ก็มีหนังสือให้อ่าน
4. ไม่มีเวลาอ่าน ข้อนี้ยอมให้เป็นได้เพียงข้อแก้ตัวเท่านั้นคนที่อ่านได้มักจะได้อ่านอยู่เสมอ คนที่ชอบอ่านจะยิ่งเสาะแสวงหาอะไรต่ออะไรมาอ่านและยิ่งอ่านก็ยิ่งมีเวลาอ่าน ยิ่งลำบากก็ยิ่งอ่าน แม้ไม่มีเงินเรียนหนังสือก็ยังอ่าน
5. ไม่มีที่อ่าน ข้อนี้หมายความว่าผู้อ่านอาจต้องการสถานที่สงบสบาย บรรยากาศร่มรื่น มีเพลงไพเราะฟังเบาๆ ฯลฯ ข้อนี้ก็คล้ายๆ จะเป็นข้อแก้ตัวเหมือนกัน เพราะหากรักจะอ่านละก็ ต่อให้อึกทึกครึกโครมอย่างไรก็อ่านได้ สำคัญว่าเราต้องสนใจอ่านเท่านั้นเอง ถ้ามัวรอสร้างบรรยากาศอยู่ บางทีบรรยากาศนั้นอาจจะกลายเป็นผู้กล่อมให้ผู้อ่านหลับไปเลยก็ได้
6. อ่านช้า นักเรียน นักศึกษาเป็นอันมากมักบ่นว่า ตนอ่านหนังสือได้ช้า ที่ว่าช้านั้นคือไม่ทันใจ เพราะต้องอ่านมาก(ในเวลาใกล้จะสอบถ้าไม่จวนตัวย่อมไม่อ่าน...)ถ้าอย่างนั้น วิธีที่ควรทำให้สม่ำเสมอเป็นนิสัยก็คือ อ่านอยู่เป็นปกติด ตั้งแต่เริ่มเรียน แม้ในเวลาพักผ่อนก็ถือเอาการอ่านหนังสือเป็นเครื่องผ่อนคลาย แต่ถ้าอ่านเป็นประจำทุกวันอยู่แล้วก็ยังอ่านช้า คืออ่านไม่เข้าใจสักที ก็ต้องดูวิธีแก้ปัญหากันต่อไป
7. อ่านไม่เข้าใจ ผู้อ่านทุกคนต้องพบปัญหานี้เมื่ออ่านสิ่งที่ตนยังไม่คุ้นเคย อุปสรรคที่ทำให้เราไม่เข้าใจ สิ่งที่อ่านนั้นมีหลายอย่าง บางอย่างต้องแก้ไขที่ฝ่ายผู้เขียนและผู้ผลิต แต่บางอย่างก็แก้ไขที่ผู้อ่านแต่ละคน เป็นต้นว่า
ผู้เขียน(รวมถึงผู้แปลด้วย) ควรแก้ไขที่...การใช้ภาษายากเกินไปข้อความวกวน ความหมายซับซ้อน มีศัพท์เฉพาะศัพท์ต่างประเทศที่ยาก (และไม่อธิบาย) ไม่เรียงลำดับเรื่องจากง่ายไปยาก ฯลฯ
ผู้ผลิตควรแก้ไขที่...ตัวพิมพ์ ไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป บางเกินไปต้องพิมพ์ให้ชัดเจน ช่องไฟและเว้นวรรคเหมาะสม มีภาพประกอบตามสมควรเพื่อช่วยผ่อนคลาย และช่วยให้เข้าใจเรื่องดีขึ้น ฯลฯ
ส่วนผู้อ่านก็มีทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้หลายวิธี ตามที่จะได้อ่านต่อไป
8. อ่านแล้วไม่เกิดประโยชน์ ผู้อ่านบางคนอ่านอะไรก็ได้อ่านไปยังงั้นแหละ อ่านแล้วก็ไม่ได้ไปทำประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมแต่อย่างใด
การอ่าน...ควรช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ เช่นรู้ว่าในผักและผลไม้อาจมีสารพิษตกค้าง ก่อนกินควรทำอย่างไร หากบังเอิญกินแล้วเกิดอาการเป็นพิษจะแก้ไขอย่างไร
การอ่าน...ควรช่วยพัฒนาจิตในให้เจริญงดงามขึ้น เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ช่วยให้เกิดเมตตาจิต อ่านเกี่ยวกับธรรมชาติ ช่วยให้เกิดปรารถนาจะรักษาธรรมชาติไว้
การอ่าน...ควรช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น เด็กจะรู้วิธีประดิษฐ์ของเล่น หรือเครื่องใช้ง่ายๆ ได้เอง โดยใช้วัสดุเหลือใช้
การอ่าน...ควรช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต เช่น ก่อนจะไปหาซื้อของบางอย่าง อาจตรวจหาแหล่งผลิตหรือจำหน่ายได้จากสมุดโทรศัพท์ หรือใช้โทรศัพท์หาข้อมูลแทนการเดินทางจนสิ้นเปลืองก็ได้
การอ่าน...ควรช่วยพัฒนาอาชีพ สำหรับคนที่ยังไม่มีอาชีพก็อาจอ่านพบตัวอย่างบุคคลซึ่งพัฒนาอาชีพของตนด้วยวิธีต่างๆ จึงเกิดแนวคิดในการเลือกอาชีพที่ตนถนัด หรือสามารถสร้างอาชีพแล้วก็อาจได้แนวทางจากการอ่านไปพัฒนาอาชีพให้ได้ผลประโยชน์ยิ่งขึ้น และเสริมสร้างให้ตนเองเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือสังคมให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ฯลฯ

ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสมรรถภาพการอ่านด้วยตนเอง ถือว่าเป็น

บันไดเก้าขั้นสำหรับการอ่านให้เก่ง
เมื่อลงมืออ่าน ให้ค่อยๆ อ่านไปรวดเดียวจบ 1 จบ แล้วทบทวนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง หัวข้อเหล่านี้คล้องจองกันอยู่แล้ว ช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นอย่างน้อยเมื่อเอ่ยชื่อหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งขึ้นมา ผู้อ่านจะพอสรุปได้ว่าเรื่องราวในหัวข้อนั้นมีว่าอย่างไร
บันได้ขั้นที่ 1 มีสมองไว้คิด
การคิดคือปัจจัยเบื้องต้นของการเข้าใจ การอ่านโดยไม่คิดก็เท่ากับการเสียเวลาเพราะหากคุณไม่เข้าใจก็ย่อมไม่ได้ความรู้ความคิด หรือข้อมูลไปทำอะไรได้
การคิดคืออะไร? การคิดคือปฏิกิริยาของผู้อ่านต่อสารที่เข้ามา จะเข้าโดยการเห็นหรือการฟังหรือโดยทั้งสองอย่างพร้อมกัน(อย่างดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์) ก็ได้ ปกติแล้วเราจะไม่ปล่อยภาพหรือตัวหนังสือ หรือเสียงให้ผ่านไปเฉยๆ เราจะรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ เกิดอารมณ์ตามไป คิดตามไปว่าจริงหรือไม่จริงที่เขาโฆษณากันสารพัดทุกวันนี้
- การคิดคืออะไร
- คิดเพื่อถาม
- ถามแล้วตอบ
บันไดขั้นที่ 2 ทำจิตให้แจ่มใส
การอ่านด้วยการ คิด กันอย่างมีหลักการ และ คิด อย่างสนุกน่าสนใจด้วยนั้นทำได้จริงหรือ? แน่นอนว่าคุณจะ คิด ได้ดีก็ต่อเมื่อมีจิตใจแจ่มใส ความแจ่มใสนี้ทำให้เกิดสมาธิ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการอ่านให้เข้าใจ จำได้แม่นยำและทำโจทย์หรือแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อจะอ่านอะไรก็ตามคุณควรรู้ว่าต้องการความตั้งใจเพียงใด การคิดไปจดไป เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างสมาธิ เพราะสมอง สายตา และมือ ทำงานประสานกันสม่ำเสมอ การเขียนเป็นตัวช่วยให้เราต้องกลั่นกรองข้อมูลในสมองเสียก่อน เรียบเรียงถ้อยคำให้กระชับรัดกุมแล้วจึงจดแบบสรุป
ดังนั้น การสร้างบรรยากาศภายนอกและภายในจิตในให้น่าอ่านให้เกิดสมาธิได้นานพอควรนั้นอยู่ที่ตัว ผู้อ่านเองเป็นส่วนใหญ่แต่หากอุปสรรคต่างๆ นั้นมีผู้อื่นก่อขึ้นก็พยายามหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเท่าที่จะทำได้แล้วปรับตัวเองให้เป็นนักอ่านได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดเพราะตัวคุณเป็นคนเรียน เป็นคนสอบ หรือเป็นคนที่ต้องทำงานด้วย การอ่าน ถ้าเกิดล้มเหลว คุณ เป็นคนล้มเองมิใช่ผู้อื่น
- สร้างสมาธิ
- จดแก้ง่วง
- หิว – กิน ง่วง – นอน
- อย่าอ่านบนเตียง อย่านอนอ่าน
- แสงสว่างพอดี
บันไดขั้นที่ 3 สนใจอ่านทุกหนังสือ(อ่านหนังสือทุกชนิด)
อย่าเอาแต่อ่านตำราเรียนอย่างเดียว ควรเปิดหูเปิดตาให้กว้าง อ่านให้หลากหลาย มิฉะนั้นคุณอาจกลายเป็นคนประเภท รู้มากยากนาน เพราะรู้ไม่รอบหรือมองโลกในแง่เดียวก็ได้
- อ่านหนังสือทุกชนิด
- สนใจอ่านเพราะอะไร
- การสร้างความสนใจ
บันไดขั้นที่ 4 อย่าถือ “ดิค” เป็นคัมภีร์
ดิค ก็คือ ดิคชันนารี หรือพจนานุกรม ปทานุกรม อักขรานุกรม ฯลฯ ซึ่งอธิบายคำศัพท์ภาษาเดียวกันก็ได้ หรือต่างภาษาก็ได้ แต่ละคนกว่าจะเรียนจบก็ได้ถือ ดิค ติดมือกันมาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนกระทั่ง ดิค เปื่อยยุ่ยคามือ แต่อาจสอบตกวิชานั้นๆ ก็ได้ ผู้อ่านพึงมีความคิดและความสามารถพื้นฐานสำหรับใช้พจนานุกรมให้ถูกวิธี คือ
- รู้ลำดับอักษร
- เดาและใช้บริบทก่อนหาศัพท์
- รู้หน้าที่ของคำ
- เลือกความหมายที่เหมาะสม
- เข้าใจก่อนจด
- สอบทานความหมาย
- ถามผู้รู้

บันไดขั้นที่ 5 อย่าอ่านจี้เป็นคำๆ
หากคุณอยากจะอ่านอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต้องอ่านแบบกวาดสายตา หรืออ่านเป็นหน่วยข้อความ คือจะหยุดสายตาก็ต่อเมื่อได้ความหมายจากการอ่านข้อความช่วงหนึ่งๆ แล้ว ช่วงข้อความที่มีความหมายต่อคุณนั้นอาจจะสั้นเพียงคำเดียวหรืออาจจะยาวกว่าหนึ่งบรรทัดก็ได้
- จงอ่านเป็นหน่วยข้อความ
- จับหนังสือให้ถูกท่า
- กวาดสายตาทีละหน่วยข้อความ
- อ่านรวดเดียวให้จบเรื่อง
- อย่ามองข้ามคำเล็กๆ
บันไดขั้นที่ 6 ฝึกการจำความย่อๆ
วิธีการจำน้อยแต่ได้ความมาก คือ
1. ทำเครื่องหมาย โดยใช้อุปกรณ์ เช่น ดินสอ ดินสอสี ปากกาเมจิก ปากการสะท้อนแสง ขีดเส้นใต้ ขีดทับคำหรือข้อความ
2. ทำบันทึกสรุปแนวคิดหลัก ของแต่ละย่อหน้า หรือแต่ละ ข้อความ เพื่อจะได้ไม่ต้องย้อนมาอ่านหนังสือใหม่อีก
3. การสร้างแผนภูมิ วิธีนี้เป็นการบันทึกที่สั้นที่สุด ครอบคลุมเนื้อหาได้มากที่สุด จำง่ายที่สุด

บันไดขั้นที่ 7 รู้จักขอความช่วยเหลือ
ในด้านการอ่าน หากอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็ควรฝึกฝนตนเองตามวิธีที่กล่าวมาหลายหน้านี้ก่อน หากจะปรึกษาตัวเองในการอ่านเรื่องราวหรือตำราที่ต่างๆ กันออกไป วิธีที่ดีที่สุดก็คือ “ตั้งคำถาม” เพราะคนที่ถามเป็น ถามตรงประเด็นนั้น นับว่าเป็นบัวเหนือน้ำแล้ว
คำถามข้อแรก ที่จะใช้ถามตัวเองได้ก็คือ ฉันจะอ่านสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ?
คำถามข้อที่สอง คือ อ่านอะไร? คุณควรเลือกหนังสือให้ตรงกับวัตถุประสงค์ก่อน วิธีง่ายๆ ก็คือ ดูชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง สารบัญ คำนำ อาจจะอ่านบทแรกสักนิดบทสุดท้ายสักหน่อย แล้วก็ดู ดัชนี ซึ่งหนังสือสมัยใหม่ส่วนมากทำไว้ท้ายเล่ม เพื่อดูว่าใช่เล่ม หรือเรื่องที่ต้องการแน่หรือไม่
คำถามที่สามก็คือ จะอ่านวิธีใด? เพราะหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน แม้หนังสือเล่มเดียวกัน คุณอาจจะมีวัตถุประสงค์ของการอ่านแต่ละครั้งต่างๆ กันไป บางคราวต้องอ่านคร่าวๆ
- ปรึกษาตนเองก่อน
- ปรึกษาครู
- ค้นคว้าจากหนังสือ
บันไดขั้นที่ 8 อ่านไม่เบื่อทุกวิชา
คุณจะประสบความสำเร็จในการเรียนทุกๆ วิชา แม้แต่วิชาที่ไม่ชอบ เพราะจุดประสงค์ของการศึกษา คือ สอบผ่านและทำงานได้ดี ถ้าคุณอ่านเก่ง คุณจะรู้ว่าทุกวิชา ทุกเรื่องราว มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น การรู้วิชาต่างๆ ให้ดีพอจะช่วยเสริมความรู้ซึ่งกันและกันไปเองโดยอัตโนมัติ และช่วยให้เห็นหนทางที่จะนำทางที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
- พลังการอ่าน
- นำความรู้ไปใช้
- อ่าน อ่าน อ่าน
บันไดขั้นที่ 9 ชีวิตมีค่าและประสบความสำเร็จ
การอ่านที่ดีนั้น ได้กล่าวแล้วว่า มิใช่มีแต่การอ่านเพื่อเรียนเท่านั้นเมื่อคุณพัฒนาความสามารถของตนเองขึ้นมาแล้ว ผลที่ตามมาจะมิได้มีอยู่เฉพาะตัวเอง เพราะคุณรู้ว่ายังมีคนอีกมากที่ด้อยโอกาสเพราะเขาอ่านไม่เป็น ไม่อ่าน หรือมีปัญหาการอ่าน หากคุณมีโอกาสจะช่วยผู้อื่นได้ก็นับได้ว่าคุณเป็น เพื่อน คนหนึ่งที่ทุกคนต้องการคบหา
การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญและการอ่านเร็ว
ผู้อ่านทั้งหลายย่อมปรารถนามีความสามารถดังต่อไปนี้
1. อ่านได้เร็ว
2. เข้าใจทุกเรื่องที่อ่าน
3. ใช้เวลาอ่านแต่น้อย ได้ประโยชน์จากการอ่านมากๆ
4. มีเวลาอ่าน มากพอที่จะอ่านได้ตามต้องการ
5. อ่านแล้วจำได้มากที่สุด
6. นำความรู้ ความคิด และสาระอื่นๆ ไปใช้ได้ผลดี และมากที่สุด




ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล. (2544). การอ่านให้เก่ง. พิมพ์ครั้งที่ 9 .กรุงเทพฯ : กระดาษสา.

ไม่มีความคิดเห็น: