วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

งานมหกรรมรักการอ่าน



รมว.ศึกษาธิการ เปิดงานมหกรรมรักการอ่าน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมรักการอ่าน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการอ่านและการเรียนรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหกรรมรักการอ่านเป็นสิ่งที่จะจุดประกาย กระตุ้นและสนองเจตนารมณ์ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ทำให้เกิดความก้าวหน้า การพัฒนางานด้านการศึกษาของไทยไปสู่สากล และไม่ได้พัฒนาเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น การอ่านเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการอ่านคือการเปิดโลกทั้งโลก ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอยู่ในหนังสือ และในปัจจุบันอาจจะพัฒนาไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือ Internet สำหรับเด็กนักเรียน ก็ไม่ได้อ่านเฉพาะตำราเรียน ยังสามารถอ่านหนังสืออื่นๆ ที่สนใจได้ การปลูกฝังให้รักการอ่านนั้น เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะความรู้มีอยู่มากมาย แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของประเทศ รู้ว่าประเทศเราแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร และยังทำให้มีความรู้รอบตัวอื่นๆ เช่น การที่มนุษย์สามารถบินได้ การเดินทางไปนอกโลก การแล่นของรถไฟ เป็นต้น วิธีการปลูกฝังให้รักการอ่าน ต้องได้อ่านในสิ่งที่ชอบ ถ้าลูกหลานจะอ่านหนังสือนวนิยาย การ์ตูน หรือความรู้รอบตัว ขออย่าได้ปิดกั้นเด็ก เพียงแต่ให้แนวความคิดเรื่องการแบ่งเวลาให้ถูกต้องกับเด็ก การอ่านหนังสือชนิดใดก็ตาม เมื่อเริ่มอ่านแล้ว อาจจะทำให้เกิดความสนใจจะอ่านต่อ ทำให้อยากจะเรียนรู้เพิ่มขึ้น เกิดการค้นคว้าหนังสือมาอ่านต่อไป ศธ. เป็นกำลังสำคัญในการปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้แก่เด็กอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลและอบรมเด็ก เพื่อให้เด็กเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป อุปสรรคใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน คงจะไม่สามารถทำลายความหวัง ความตั้งใจในการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ก็จะต้องพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับการปลูกฝังเยาวชนให้รักการอ่าน รักดี รักสิ่งที่มีคุณธรรม ก็จะต้องดำเนินการต่อไป แต่ไม่มีใครสามารถดำเนินการได้คนเดียวตลอดไป จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เมื่อรัฐบาลชุดนี้ออกไป ก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็จะดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า การจัดงานวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องอย่างยิ่ง ในการสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกระดับ รมว.ศธ. ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหลักของ ศธ. ภาคเอกชน และประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตหนังสือ หนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง และหนังสือจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้ถูกเปิดอ่าน “เปิดหนังสือก็เหมือนกับเปิดโลกทั้งโลก ทุกอย่างในโลกมีอยู่ในหนังสือ” มหกรรมรักการอ่าน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๘ กันยายน ๒๕๕๑ ณ อาคาร ๑-๔ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานประกอบด้วย ๔ เมืองหลัก ๑๒ เมืองย่อย มีการแนะนำสุดยอด ๖๐ หนังสือดีที่ควรอ่าน ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เพิ่มไอคิว และพัฒนาอีคิวที่เหมาะกับทุกวัย และมีเวทีการแสดงศักยภาพ ด้านทักษะการอ่าน เขียน พูด และกิจกรรมการแสดงบนเวทีด้วย.

แนะนำหนังหนังสือน่าอ่าน


ชื่อเรื่อง เรื่องการอ่านจับใจความ
เนื้อหาจาก หนังสือการอ่านจับใจความ ผู้แต่ง แววมยุรา เหมือนนิล สำนักพิมพ์ ชมรมเด็ก

พิมพ์ครั้งแรก 2538 /ครั้งที่ 2541

ISBN 974-8262-86-3 ราคา100 บาท
เลขเรียกหนังสือ PN4145 ว948กฉ.5
สถานที่เก็บ SPU Main Library
ความประทับใจต่อหนังสือเล่มนี้: เนื่องจากการที่เราจะอ่านหนังสือแล้วเข้าถึงแก่นหรือเนื้อหาของหนังสือนั้นจะต้องอาศัยหลักการอ่านที่ถูกต้องเพราะบางครั้งถ้าเราอ่านอย่างเดียวโดยไม่รู้หลักที่ถูกต้อง เราอาจจจะไม่ได้รับถึงอรรถรส ไม่เข้าถึงแก่น ประโยขน์ หรือสื่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านทราบได้อย่างเต็มที่หรือบิดเบือนได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในการเป็นพื้นฐานหรือตัวช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อหาของหนังสือที่จะอ่านมากขึ้น และเป็นหนังสือที่อยากจให้ทุกคนที่เริ่มอ่านหนังสืออ่านเป็นเล่มแรกเพื่อเสริมสร้างการอ่านที่ดีและจะช่วยให้อ่านหนังสือได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น
เนื้อหาสำคัญโดยสรุป: ในที่นี้จะสรุปรวมเฉพาะหลักสำคัญที่สามารถใช้ในการอ่านหนังสือได้ทุกประเภท ส่วนกลวิธีจับใจความของหนังสือแต่ละประเภทนั้นเพื่อนๆสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เนิ้อหาในหนังสือโดยตรง
การอ่านจับใจความ
สาระสำคัญ
1. การอ่านจับใจความ คือการอ่านที่มุ่งค้นหาสาระสำคัญของเรื่องหรือหนังสือแต่ละเล่มว่าคืออะไร ซึ่งแบ่งออกเป็น2ส่วนดังนี้
1.1 ส่วนที่เป็นใจความสำคัญ
1.2 ส่วนที่ขยายใจความสำคัญหรือส่วนประกอบ เพื่อให้เรื่องชัดเจนยิ่งขึ้น ในกรณีที่เรื่องนั้นมีย่อหน้าเดียว ในย่อหน้านั้นจะมีใจความสำคัญอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นเป็นส่วนขยายใจความสำคัญ หรือส่วนขยายใจความสำคัญ หรือส่วนประกอบ
2. การอ่านจับใจความให้เข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว ต้องอาศัยแนวทางและพื้นฐานสำคัญหลายประการดังนี้
2.1 สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆเพราะเป็นส่วนประกอบของหนังสือ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงในการใช้หนังสือ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาของหนังสือ
2.2 กำหนดเป้าหมายในการอ่านให้ชัดเจนทุกครั้ง คือกำหนดว่าจะอ่านเพื่ออะไร เช่น เพื่อความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน เป็นต้น
2.3 ต้องมีความสามารถทางภาษา เพราะมันเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการอ่านจับใจความ โดยต้องใช้ทักษะการแปลความ อย่างบางคำเราไม่รู้ความหมายก็จะต้องใช้พจนานุกรมเข้ามาช่วย หรือการอ่านประโยคต่างๆต้องดูนัยยะแฝงด้วย
2.4 การมีประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านจะช่วยให้เราเข้าใจและจับใจความความเรื่องที่อ่านได้ง่ายขึ้น ในข้อนี้ผู้อ่านสามารถหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาอ่านประกอบกันเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็ได้
2.5 ความเข้าใจลักษณะของหนังสือ หนังสือแต่ละประเภทมีรูปแบบการแต่งและเป้าหมายของเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น
หนังสือประเภทสารัตถคดี (Non-fiction) เช่นตำรา สารคดี ข่าว บทความ เป็นเรื่องจริงที่มุ่งให้ความรู้หรือให้ความคิดแก่ผู้อ่านมากกว่าอย่างอื่น จะจับใจความง่าย ตรงไปตรงมา
หนังสือประเภทบันเทิงคดี (Fiction) เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย เป็นเรื่องสมมติ มุ่งให้ความเพลิดเพลินเป็นสำคัญแต่จะมีกลวิธีแต่งที่ซับซ้อน จับใจความยาก
3. การอ่านจับใจความนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการอ่านในระดับต้น และระดับที่สูงขึ้นไปอีก
การที่เราจะรู้ว่าเราสามารถจับใจความได้หรือไม่สามารถสังเกตได้จากสิ่งต่อไปนี้
3.1 การจำลำดับเรื่องที่อ่าน และเล่าเรื่องโดยใช้คำพูดของตนเองได้
3.2 การบอกเล่าความทรงจำจากการอ่าในสิ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ เช่น ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่เกิดในหนังสือ เป็นต้น
3.3 การทำตามคำสั่งหรือข้อเสนอแนะหลังอ่านได้
3.4 รู้จักแยกข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือจินตนาการได้
3.5 สามารถรวมข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่มีอยู่แล้วได้
3.6 การเลือกความหมายที่ถูกต้องและนำไปใช้ได้
3.7 การให้ตัวอย่างประกอบได้
3.8 การสรุปเรื่องได้
กลวิธีการอ่านจับใจความสำคัญ
สาระสำคัญ
1. การอ่านจับใจความสำคัญของเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรเริ่มจากการอ่านจับใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้าให้ถูกต้องแม่นยำเสียก่อน ถ้าเรื่องไหนมีหลายย่อหน้าแสดงว่ามีหลายใจความสำคัญ เมื่อนำประเด็นสำคัญในแต่ละย่อหน้ามาพิจารณารวมกันแล้วจะทำให้จับแก่นเรื่องได้ง่ายขึ้น
2.ใจความสำคัญแต่ละย่อหน้า หมายถึงข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆในย่อหน้านั้นไว้ทั้งหมด เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านรู้ในย่อหน้านั้นๆ
3. ใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้า ส่วนมากมักอยู่ในประโยคใดประโยคหนึ่ง ดดยมีข้อสังเกตดังนี้
3.1 ประโยคต้นย่อหน้า เป็นจุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องมากที่สุด เพราะสว่นมากผู้เขียนจะบอกประเด็นสำคัญแล้วค่อยขยายความ
3.2 ประโยคตอนท้ายย่อหน้า เป็นจุดที่พบใจความสำคัญรองลงมาจากประโยคต้นย่อหน้า โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดย่อยๆมาก่อนแล้วสรุปให้ในตอนท้าย
3.3 ประโยคกลางย่อหน้า เป็นจุดที่ค้นหาใจความสำคัญได้ยากที่สุด เพราะจะต้องเปรียบเทียบสาระที่สำคัญที่สุดว่าอยู่ที่ประโยคไหน
3.4 ไม่ปรากฎชัดเจนที่ใดที่หนึ่ง ในข้อนี้เราต้องอ่านโดยรวมแล้วสรุปเนื้อหาทั้งหมดเพื่อให้ได้ใจความสำคัญ
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงหลักพื้นฐานที่สำคัญในการอ่านจับใจความที่สามารถใช้ได้กับหนังสือทุกประเภท หากต้องการเจาะลึกถึงกลวิธีอ่านจับใจความของหนังสือแต่ละปะเภทเพื่อนๆสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือการอ่านจับใจความได้โดยตรง
ขอขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ การอ่านจับใจความ (อาจารย์แววมยุรา เหมือนนิล)2538/2541

เคล็ดลับวิธีทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนได้อย่างแม่นยำ


เคล็ดลับการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนนี้ เป็นเทคนิคง่าย ๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกคน ขอแต่เพียงเข้าใจเคล็ดลับวิธีการเท่านั้นเอง หัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียน คือ การหมั่นฝึกฝนตามขั้นตอนให้เกิดความเคยชินจนติดกลายเป็นนิสัยการอ่านเพื่อทำความเข้าใจนี้จะแตกต่างจากการอ่านเพียงเพื่อท่องจำ
1. เวลาอ่านบทเรียนหรือตำรา ให้อ่านอย่างตั้งใจ แต่ทว่าเราจะไม่อ่านไปเรื่อย ๆ คือเราจะ หยุดอ่านเมื่อจบย่อหน้าหรือหยุดเมื่ออ่านไปได้พอสมควรแล้ว
2. จากนั้นให้ปิดหนังสือ ! แล้วลองอธิบายสิ่งที่ตนเองได้อ่านมาให้ตัวเองฟัง คือ เราสามารถอธิบายให้ตัวเองฟังด้วยภาษาสำนวนของเราเอง ฟังแล้วเข้าใจหรือเปล่า หากเราสามารถอธิบายให้ตัวเองฟังรู้เรื่อง แสดงว่าเราเข้าใจแล้ว ให้อ่านต่อไปได้
3. หากตอนใดเราอ่านแล้วแต่ไม่สามารถอธิบายให้ตัวเองรู้เรื่อง แสดงว่ายังไม่เข้าใจ ให้กลับไปอ่านทบทวนใหม่อีกครั้ง
4. หากเราพยายามอ่านหลายรอบแล้วยังไม่เข้าใจจริงๆให้จดโน้ตไว้เพื่อนำไปถามอาจารย์ จากนั้นให้อ่านต่อไป
5. ข้อมูลบางอย่างในตำราจำเป็นที่จะต้องท่องจำ เช่น ตัวเลข สถิติ ชื่อสถานที่ บุคคล หรือ สูตร ต่าง ๆ ฯลฯ ก็ควรท่องจำไว้ด้วย เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
6. การเรียนด้วยวิธีท่องจำโดยปราศจากความเข้าใจ เรียนไปก็ลืมไป สูญเสียเวลา เปล่าประโยชน์ เสียเงินทอง
7. การเรียนที่เน้นแต่ความเข้าใจ โดยไม่ยอมท่องจำ ก็จะทำให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ชัดเจน คลุมเครือ
8. ดังนั้นจึงขอสรุปเทคนิคง่าย ๆ สั้น ๆ ดังต่อไปนี้ :-
ก.ให้อ่านหนังสือ สลับกับ การอธิบายให้ตัวเองฟัง
ข.ให้ท่องจำเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต้องจำจริง ๆ เช่น ตัวเลข ชื่อเฉพาะต่างๆ
อ่านหนังสือด้วยวิธีการนี้จะทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้ทั้งเล่ม ไม่ลืมเลย...สวัสดี
หมายเหตุ * เทคนิคการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนได้อย่างแม่นยำนี้ เป็นเพียงข้อเดียว (อรรถปฏิสัมภิทา) ในธรรมะชุดปฏิสัมภิทา 4 หรือ ธรรมะเพื่อความเลิศทางวิชาการ จาก พระไตรปิฎกมรดกทางปัญญาที่สำคัญที่สุดของคนไทย )

...เทคนิคการอ่านหนังสือยังงัยน่ะให้จำง่ายๆ...

ดีค่ะ...เพื่อนๆ วันนี้ Ooo...ทีมงานวิเคราะห์ระบบ...ooO มีเทคนิคในการอ่านหนังสือยังงัยดีน่ะให้จำง่ายๆมาฝากน้องๆด้วยนะค่ะ (ขอบอกเลยว่าพี่เคยลองมาแล้วนะค่ะ แอบไปถามเพื่อนๆที่เค้าได้เกรดดีๆมาค่ะ ว่าเค้ามีเทคนิคอะไร)
อ่ะ...มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ ตามมาๆๆๆ

ข้อที่ 1. น้องๆต้องใส่ใจเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆก่อนเลยล่ะ ดูซิ!!!ว่าวิชาไหนน่ะที่เราต้องสอบเป็นอันดับแรกๆ หยิบวิชานั้นขึ้นมาก่อนเลย เตรียมไว้นะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาที่จะสอบ ชีท เอกสารต่างๆ หรือแนวข้อสอบ(อันนี้สำคัญนะค่ะ หาให้เจอล่ะ) ค้นเลยๆ ทุกวิชานะค่ะ
ข้อที่ 2.แยกหมวดหมู่แต่ละวิชา ก่อน-หลัง แล้วหาที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบด้วยล่ะ
ข้อที่ 3.เตรียม ดินสอ/ปากกา สมุด และปากกาเน้นข้อความไว้ด้วยนะ
ข้อที่ 4.เริ่มอ่านวิชาที่จะต้องสอบก่อนเป็นวิชาแรกเลยค่ะ ตรงนี้แหละสำคัญมาก น้องๆอย่าอ่านๆๆๆๆๆแล้วก็อ่านเพื่อให้จบ แบบผ่านๆนะค่ะ ต่อให้น้องๆอ่านสัก 10 รอบแล้วบอกคนอื่นๆว่า "ก็เค้าอ่านเป็นสิบๆรอบแล้วอ่ะ แต่ทำไมทำข้อสอบไม่ได้เลยน่ะ?" อ่ะๆๆๆ!!! อ่านสัก 100 รอบก็ไม่ช่วยอะไรหรอกเจ้าค่ะ อ่านแล้วต้องทำความเข้าใจไปด้วย ตรงไหนที่คิดว่าสำคัญๆ น้องๆก็เน้นตรงจุดนั้นไว้ อาจจะใช้วิธีการจดบันทึกไว้ หรือ เน้นข้อความด้วยปากกาสีต่างๆก็ได้ค่ะ เพื่อว่าจะได้กลับมาอ่านอีกครั้ง
ข้อที่ 5.นั้นงัยๆๆๆพี่บอกไปตะกี้เองนะค่ะว่าอย่าอ่านแบบผ่านๆ ดูสิ!!!น้องๆลองกลับไปอ่านข้อ 3 ใหม่สิค่ะ แล้วดูซิว่าที่ต่อจากข้อ 3 นะเป็นข้อที่เท่าไหร่ ข้อที่ 4หายไปๆๆๆๆ ส่วนน้องๆคนไหนสังเกตเห็นก่อนที่พี่เฉลย น้องก็ไม่มีปัญหาในเรื่องของการอ่านหนังสือแล้วละค่ะ เก่งมากๆเลย ส่วนน้องๆคนไหนที่ไม่ทันได้สังเกต ก็เอาจุดนี้เนี่ยแหละค่ะไปลองปรับใช้กับการอ่านหนังสือดูตามที่พี่บอกไว้ในข้อที่ 5 นะค่ะ
ข้อที่ 6.อ่ะ ต่อๆๆ การไม่ปล่อยให้ท้องว่างก็เป็นสิ่งสำคัญนะค่ะ ถ้าน้องๆอ่านๆๆๆหนังสืออย่างเดียวจนลืมทานข้าวแล้วละก็ นอกจากน้องๆจะอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องแล้ว อาจจะทำให้ป่วย และทำให้เป็นโรคกระเพาะได้ด้วยนะจ๊ะ สำคัญเลย ต้องหาอะไรทานเมื่อท้องว่างด้วยน้า...อย่าทรมาณตัวเองละ
ข้อที่ 7.ในการอ่านหนังสือ น้องๆควรเลือกเวลาที่รู้สึกว่าสมองเราพร้อมจะทำงานด้วยนะจ๊ะ แล้วเมื่อน้องๆรู้สึกว่าเริ่มอ่านไม่ไหวแล้วล่ะ อ่านนานมากไปทำให้ปวดตา ปวดหัว ให้น้องๆพักก่อน อาจจะหาอย่างอื่นทำ เช่นพักสายตาโดยการหาเพลงเพราะๆฟัง(อ่ะๆๆๆเลือเพลงที่ฟังแล้วจรรโลงใจด้วยละ ถ้าฟังเพลงที่หนักไป อาจทำให้ยิ่งปวดหัวมากกว่าเดิม ไม่รู้ด้วยนะเจ้าค่ะ) จะดูทีวี เล่นเกม หรือกิจกรรมอื่นๆที่ทำแล้วผ่อนคลายก็หามาลองทำกันดูนะเจ้าค่ะ แต่ๆๆๆๆแล้วก็แต่...อย่าพักจนเพลินละ เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายผ่อนคลายเพียงพอแล้วก็กลับเข้าสู่โหมดการอ่านหนังสือต่อเลยยย (เอาน่าๆทนเอาหน่อยนะเจ้าค่ะ สอบไม่ได้มีมาบ่อยๆ ตั้งใจให้สุดๆไปเลย)
ข้อที่ 8.นั้นแน่ๆ พี่รู้นะว่าน้องๆเริ่มใส่ใจในรายละเอียดในการอ่านกันบ้างแล้ว คงคิดใช่มั้ยละ ว่าพี่จะแกล้งทำให้ข้อไหนหายไปอีกน่ะ!!! ดีแล้วค่ะถ้าน้องๆคิดแบบนี้นะ เป็นการฝึกตัวเองไปด้วย ให้เป็นคนรอบคอบ ดีค่ะๆ อ่ะต่อๆ
ข้อที่ 9.อ้า....อ่านไม่ทันแล้วอ่ะ!!!ทำไงดีๆ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนๆคนอื่นๆเกือบทุกคนละค่ะ ที่สำคัญเลย อย่าตื่นเต้นจนรนล่ะ ตั้งสตินะค่ะตรงนี้สำคัญมากๆเลย ให้น้องๆหยุดอ่านหนังสือต่อสักพักนึง แล้วดูซิว่า...พรุ่งนี้เราสอบวิชาอะไรบ้าง แล้วหยิบวิชาที่สอบเป็นวิชาแรกมาอ่านทบทวนก่อนเลย แล้วก็ทบทวนวิชาอื่นๆต่อไป (ตรงถ้าคิดว่ากลัวอ่านไม่ทันรอบทบทวนให้น้องๆอ่านในส่วนที่เน้น ที่สำคัญๆเอาไว้ก่อนเลย จำได้มั้ยเอ๋ยว่าในการอ่านรอบแรกพี่ให้น้องๆจดบันทึกที่สำคัญๆไว้ที่คิดว่าน่าจะออก หรือส่วนที่มันยาก จำไม่ได้ก็นำมาอ่านก่อนเลย ตรงส่วนไหนที่น้องๆจำได้ หรือเข้าใจก็เปิดผ่านๆเลยค่ะ ตอนนี้เราต้องทำเวลาแหละน่ะ)
ข้อที่ 10.เอาละ...อ่านหนังสือสอบก็ต้องฟิสหน่อย น้องๆบางคนอาจจะอ่านหนังสือเร็วและเข้าใจง่ายทำให้การอ่านหนังสือไม่ค่อยมีปัญหาเลยก็ดีไป ส่วนน้องคนไหนเป็นคนที่อ่านหนังสือช้าก็ต้องขยันกว่าคนอื่นๆหน่อยแล้ว อาจจะทำให้อ่านหนังสือไม่ทัน ทำให้ต้องนอนดึกหน่อย ก็อย่าลืมดูแลตัวเองนะค่ะ หานมอุ่นๆหรือของว่างทานสักนิดนึง ใส่ใจในสุขภาพหน่อยนะค่ะ เพราะเดี๋ยวน้องๆอาจป่วยได้ แล้วเป็นงัยน่ะ ไปสอบไม่ได้ แย่เลยน่ะเจ้าค่ะ สำคัญเลย ถ้าอ่านหนังสือไม่ทันแล้วจริงๆ แต่ร่างกายเราไม่ไหวแล้ว อย่าฝืนนะค่ะ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น รีบเตรียมตัวเข้านอนกันดีกว่าค่ะ ตื่นเช้ามาจะได้สดชื่น แถมถ้าเราตื่นเร็ว ก็จะมีเวลาอีกนิดในการทบทวนก่อนเข้าห้องสอบนะค่ะน้องๆ

การอ่านให้เก่ง

ปัญหาของการอ่าน
1. ไม่อ่าน ข้อนี้หมายความว่า ไม่ว่าใครจะแนะนำสั่งสอนอย่างไรตนเองมีความจำเป็นจะต้องอ่านมากเพียงไร ก็ไม่อ่าน ไม่สนใจสิ่งใดในโลกทั้งสิ้น เรื่องนี้แก้ไขช่วยเหลือยากอยู่ อาจต้องฟื้นฟูสภาพจิตในกันก่อน
2. อ่านไม่ออก ข้อนี้แก้ไขได้ด้วยการเล่าเรียนศึกษา ถ้าคุณอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้วก็นับว่าโชคดีมาก เพราะมีเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่อีกหลายแสนคนในเมืองไทยที่มีโอกาสเรียนเท่าคุณ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสดีแล้วก็จงขยันหมั่นเรียน มิฉะนั้นจะมีสภาพอย่างนี้
ลางคนเกิดมา ไม่รู้วิชา เคอะอยู่จนโต
ไปเป็นข้าเขา เพราะเง่าเพราะโง่ บ้างเป็นคนโซ เที่ยวขอก็มีฯ
3. ไม่มีหนังสืออ่าน ถ้าคุณเข้าโรงเรียน อย่างน้อยก็มีหนังสือเรียนและหนังสือในห้องสมุดอ่านได้ นอกจากนี้ยังมีหนังสือตามร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย สถานที่ราชการต่างๆ โรงพยาบาล ตลอดจนที่ร้านหรือแผงหนังสือ ซึ่งลูกค้าจะเดินเข้าไปพลิกๆ อ่าน หรือยืนอ่านสักชั่วโมงหนึ่งโดยไม่ซื้อก็ย่อมได้ หอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดประชาชน ตลอดจน วัดวาอารามทุกศาสนา ก็มีหนังสือให้อ่าน กระทั่งถุงกระดาษที่ใส่ขอมาจากร้านค้า ก็มีหนังสือให้อ่าน
4. ไม่มีเวลาอ่าน ข้อนี้ยอมให้เป็นได้เพียงข้อแก้ตัวเท่านั้นคนที่อ่านได้มักจะได้อ่านอยู่เสมอ คนที่ชอบอ่านจะยิ่งเสาะแสวงหาอะไรต่ออะไรมาอ่านและยิ่งอ่านก็ยิ่งมีเวลาอ่าน ยิ่งลำบากก็ยิ่งอ่าน แม้ไม่มีเงินเรียนหนังสือก็ยังอ่าน
5. ไม่มีที่อ่าน ข้อนี้หมายความว่าผู้อ่านอาจต้องการสถานที่สงบสบาย บรรยากาศร่มรื่น มีเพลงไพเราะฟังเบาๆ ฯลฯ ข้อนี้ก็คล้ายๆ จะเป็นข้อแก้ตัวเหมือนกัน เพราะหากรักจะอ่านละก็ ต่อให้อึกทึกครึกโครมอย่างไรก็อ่านได้ สำคัญว่าเราต้องสนใจอ่านเท่านั้นเอง ถ้ามัวรอสร้างบรรยากาศอยู่ บางทีบรรยากาศนั้นอาจจะกลายเป็นผู้กล่อมให้ผู้อ่านหลับไปเลยก็ได้
6. อ่านช้า นักเรียน นักศึกษาเป็นอันมากมักบ่นว่า ตนอ่านหนังสือได้ช้า ที่ว่าช้านั้นคือไม่ทันใจ เพราะต้องอ่านมาก(ในเวลาใกล้จะสอบถ้าไม่จวนตัวย่อมไม่อ่าน...)ถ้าอย่างนั้น วิธีที่ควรทำให้สม่ำเสมอเป็นนิสัยก็คือ อ่านอยู่เป็นปกติด ตั้งแต่เริ่มเรียน แม้ในเวลาพักผ่อนก็ถือเอาการอ่านหนังสือเป็นเครื่องผ่อนคลาย แต่ถ้าอ่านเป็นประจำทุกวันอยู่แล้วก็ยังอ่านช้า คืออ่านไม่เข้าใจสักที ก็ต้องดูวิธีแก้ปัญหากันต่อไป
7. อ่านไม่เข้าใจ ผู้อ่านทุกคนต้องพบปัญหานี้เมื่ออ่านสิ่งที่ตนยังไม่คุ้นเคย อุปสรรคที่ทำให้เราไม่เข้าใจ สิ่งที่อ่านนั้นมีหลายอย่าง บางอย่างต้องแก้ไขที่ฝ่ายผู้เขียนและผู้ผลิต แต่บางอย่างก็แก้ไขที่ผู้อ่านแต่ละคน เป็นต้นว่า
ผู้เขียน(รวมถึงผู้แปลด้วย) ควรแก้ไขที่...การใช้ภาษายากเกินไปข้อความวกวน ความหมายซับซ้อน มีศัพท์เฉพาะศัพท์ต่างประเทศที่ยาก (และไม่อธิบาย) ไม่เรียงลำดับเรื่องจากง่ายไปยาก ฯลฯ
ผู้ผลิตควรแก้ไขที่...ตัวพิมพ์ ไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป บางเกินไปต้องพิมพ์ให้ชัดเจน ช่องไฟและเว้นวรรคเหมาะสม มีภาพประกอบตามสมควรเพื่อช่วยผ่อนคลาย และช่วยให้เข้าใจเรื่องดีขึ้น ฯลฯ
ส่วนผู้อ่านก็มีทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้หลายวิธี ตามที่จะได้อ่านต่อไป
8. อ่านแล้วไม่เกิดประโยชน์ ผู้อ่านบางคนอ่านอะไรก็ได้อ่านไปยังงั้นแหละ อ่านแล้วก็ไม่ได้ไปทำประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมแต่อย่างใด
การอ่าน...ควรช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ เช่นรู้ว่าในผักและผลไม้อาจมีสารพิษตกค้าง ก่อนกินควรทำอย่างไร หากบังเอิญกินแล้วเกิดอาการเป็นพิษจะแก้ไขอย่างไร
การอ่าน...ควรช่วยพัฒนาจิตในให้เจริญงดงามขึ้น เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ช่วยให้เกิดเมตตาจิต อ่านเกี่ยวกับธรรมชาติ ช่วยให้เกิดปรารถนาจะรักษาธรรมชาติไว้
การอ่าน...ควรช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น เด็กจะรู้วิธีประดิษฐ์ของเล่น หรือเครื่องใช้ง่ายๆ ได้เอง โดยใช้วัสดุเหลือใช้
การอ่าน...ควรช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต เช่น ก่อนจะไปหาซื้อของบางอย่าง อาจตรวจหาแหล่งผลิตหรือจำหน่ายได้จากสมุดโทรศัพท์ หรือใช้โทรศัพท์หาข้อมูลแทนการเดินทางจนสิ้นเปลืองก็ได้
การอ่าน...ควรช่วยพัฒนาอาชีพ สำหรับคนที่ยังไม่มีอาชีพก็อาจอ่านพบตัวอย่างบุคคลซึ่งพัฒนาอาชีพของตนด้วยวิธีต่างๆ จึงเกิดแนวคิดในการเลือกอาชีพที่ตนถนัด หรือสามารถสร้างอาชีพแล้วก็อาจได้แนวทางจากการอ่านไปพัฒนาอาชีพให้ได้ผลประโยชน์ยิ่งขึ้น และเสริมสร้างให้ตนเองเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือสังคมให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ฯลฯ

ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสมรรถภาพการอ่านด้วยตนเอง ถือว่าเป็น

บันไดเก้าขั้นสำหรับการอ่านให้เก่ง
เมื่อลงมืออ่าน ให้ค่อยๆ อ่านไปรวดเดียวจบ 1 จบ แล้วทบทวนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง หัวข้อเหล่านี้คล้องจองกันอยู่แล้ว ช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นอย่างน้อยเมื่อเอ่ยชื่อหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งขึ้นมา ผู้อ่านจะพอสรุปได้ว่าเรื่องราวในหัวข้อนั้นมีว่าอย่างไร
บันได้ขั้นที่ 1 มีสมองไว้คิด
การคิดคือปัจจัยเบื้องต้นของการเข้าใจ การอ่านโดยไม่คิดก็เท่ากับการเสียเวลาเพราะหากคุณไม่เข้าใจก็ย่อมไม่ได้ความรู้ความคิด หรือข้อมูลไปทำอะไรได้
การคิดคืออะไร? การคิดคือปฏิกิริยาของผู้อ่านต่อสารที่เข้ามา จะเข้าโดยการเห็นหรือการฟังหรือโดยทั้งสองอย่างพร้อมกัน(อย่างดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์) ก็ได้ ปกติแล้วเราจะไม่ปล่อยภาพหรือตัวหนังสือ หรือเสียงให้ผ่านไปเฉยๆ เราจะรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ เกิดอารมณ์ตามไป คิดตามไปว่าจริงหรือไม่จริงที่เขาโฆษณากันสารพัดทุกวันนี้
- การคิดคืออะไร
- คิดเพื่อถาม
- ถามแล้วตอบ
บันไดขั้นที่ 2 ทำจิตให้แจ่มใส
การอ่านด้วยการ คิด กันอย่างมีหลักการ และ คิด อย่างสนุกน่าสนใจด้วยนั้นทำได้จริงหรือ? แน่นอนว่าคุณจะ คิด ได้ดีก็ต่อเมื่อมีจิตใจแจ่มใส ความแจ่มใสนี้ทำให้เกิดสมาธิ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการอ่านให้เข้าใจ จำได้แม่นยำและทำโจทย์หรือแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อจะอ่านอะไรก็ตามคุณควรรู้ว่าต้องการความตั้งใจเพียงใด การคิดไปจดไป เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างสมาธิ เพราะสมอง สายตา และมือ ทำงานประสานกันสม่ำเสมอ การเขียนเป็นตัวช่วยให้เราต้องกลั่นกรองข้อมูลในสมองเสียก่อน เรียบเรียงถ้อยคำให้กระชับรัดกุมแล้วจึงจดแบบสรุป
ดังนั้น การสร้างบรรยากาศภายนอกและภายในจิตในให้น่าอ่านให้เกิดสมาธิได้นานพอควรนั้นอยู่ที่ตัว ผู้อ่านเองเป็นส่วนใหญ่แต่หากอุปสรรคต่างๆ นั้นมีผู้อื่นก่อขึ้นก็พยายามหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเท่าที่จะทำได้แล้วปรับตัวเองให้เป็นนักอ่านได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดเพราะตัวคุณเป็นคนเรียน เป็นคนสอบ หรือเป็นคนที่ต้องทำงานด้วย การอ่าน ถ้าเกิดล้มเหลว คุณ เป็นคนล้มเองมิใช่ผู้อื่น
- สร้างสมาธิ
- จดแก้ง่วง
- หิว – กิน ง่วง – นอน
- อย่าอ่านบนเตียง อย่านอนอ่าน
- แสงสว่างพอดี
บันไดขั้นที่ 3 สนใจอ่านทุกหนังสือ(อ่านหนังสือทุกชนิด)
อย่าเอาแต่อ่านตำราเรียนอย่างเดียว ควรเปิดหูเปิดตาให้กว้าง อ่านให้หลากหลาย มิฉะนั้นคุณอาจกลายเป็นคนประเภท รู้มากยากนาน เพราะรู้ไม่รอบหรือมองโลกในแง่เดียวก็ได้
- อ่านหนังสือทุกชนิด
- สนใจอ่านเพราะอะไร
- การสร้างความสนใจ
บันไดขั้นที่ 4 อย่าถือ “ดิค” เป็นคัมภีร์
ดิค ก็คือ ดิคชันนารี หรือพจนานุกรม ปทานุกรม อักขรานุกรม ฯลฯ ซึ่งอธิบายคำศัพท์ภาษาเดียวกันก็ได้ หรือต่างภาษาก็ได้ แต่ละคนกว่าจะเรียนจบก็ได้ถือ ดิค ติดมือกันมาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนกระทั่ง ดิค เปื่อยยุ่ยคามือ แต่อาจสอบตกวิชานั้นๆ ก็ได้ ผู้อ่านพึงมีความคิดและความสามารถพื้นฐานสำหรับใช้พจนานุกรมให้ถูกวิธี คือ
- รู้ลำดับอักษร
- เดาและใช้บริบทก่อนหาศัพท์
- รู้หน้าที่ของคำ
- เลือกความหมายที่เหมาะสม
- เข้าใจก่อนจด
- สอบทานความหมาย
- ถามผู้รู้

บันไดขั้นที่ 5 อย่าอ่านจี้เป็นคำๆ
หากคุณอยากจะอ่านอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต้องอ่านแบบกวาดสายตา หรืออ่านเป็นหน่วยข้อความ คือจะหยุดสายตาก็ต่อเมื่อได้ความหมายจากการอ่านข้อความช่วงหนึ่งๆ แล้ว ช่วงข้อความที่มีความหมายต่อคุณนั้นอาจจะสั้นเพียงคำเดียวหรืออาจจะยาวกว่าหนึ่งบรรทัดก็ได้
- จงอ่านเป็นหน่วยข้อความ
- จับหนังสือให้ถูกท่า
- กวาดสายตาทีละหน่วยข้อความ
- อ่านรวดเดียวให้จบเรื่อง
- อย่ามองข้ามคำเล็กๆ
บันไดขั้นที่ 6 ฝึกการจำความย่อๆ
วิธีการจำน้อยแต่ได้ความมาก คือ
1. ทำเครื่องหมาย โดยใช้อุปกรณ์ เช่น ดินสอ ดินสอสี ปากกาเมจิก ปากการสะท้อนแสง ขีดเส้นใต้ ขีดทับคำหรือข้อความ
2. ทำบันทึกสรุปแนวคิดหลัก ของแต่ละย่อหน้า หรือแต่ละ ข้อความ เพื่อจะได้ไม่ต้องย้อนมาอ่านหนังสือใหม่อีก
3. การสร้างแผนภูมิ วิธีนี้เป็นการบันทึกที่สั้นที่สุด ครอบคลุมเนื้อหาได้มากที่สุด จำง่ายที่สุด

บันไดขั้นที่ 7 รู้จักขอความช่วยเหลือ
ในด้านการอ่าน หากอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็ควรฝึกฝนตนเองตามวิธีที่กล่าวมาหลายหน้านี้ก่อน หากจะปรึกษาตัวเองในการอ่านเรื่องราวหรือตำราที่ต่างๆ กันออกไป วิธีที่ดีที่สุดก็คือ “ตั้งคำถาม” เพราะคนที่ถามเป็น ถามตรงประเด็นนั้น นับว่าเป็นบัวเหนือน้ำแล้ว
คำถามข้อแรก ที่จะใช้ถามตัวเองได้ก็คือ ฉันจะอ่านสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ?
คำถามข้อที่สอง คือ อ่านอะไร? คุณควรเลือกหนังสือให้ตรงกับวัตถุประสงค์ก่อน วิธีง่ายๆ ก็คือ ดูชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง สารบัญ คำนำ อาจจะอ่านบทแรกสักนิดบทสุดท้ายสักหน่อย แล้วก็ดู ดัชนี ซึ่งหนังสือสมัยใหม่ส่วนมากทำไว้ท้ายเล่ม เพื่อดูว่าใช่เล่ม หรือเรื่องที่ต้องการแน่หรือไม่
คำถามที่สามก็คือ จะอ่านวิธีใด? เพราะหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน แม้หนังสือเล่มเดียวกัน คุณอาจจะมีวัตถุประสงค์ของการอ่านแต่ละครั้งต่างๆ กันไป บางคราวต้องอ่านคร่าวๆ
- ปรึกษาตนเองก่อน
- ปรึกษาครู
- ค้นคว้าจากหนังสือ
บันไดขั้นที่ 8 อ่านไม่เบื่อทุกวิชา
คุณจะประสบความสำเร็จในการเรียนทุกๆ วิชา แม้แต่วิชาที่ไม่ชอบ เพราะจุดประสงค์ของการศึกษา คือ สอบผ่านและทำงานได้ดี ถ้าคุณอ่านเก่ง คุณจะรู้ว่าทุกวิชา ทุกเรื่องราว มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น การรู้วิชาต่างๆ ให้ดีพอจะช่วยเสริมความรู้ซึ่งกันและกันไปเองโดยอัตโนมัติ และช่วยให้เห็นหนทางที่จะนำทางที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
- พลังการอ่าน
- นำความรู้ไปใช้
- อ่าน อ่าน อ่าน
บันไดขั้นที่ 9 ชีวิตมีค่าและประสบความสำเร็จ
การอ่านที่ดีนั้น ได้กล่าวแล้วว่า มิใช่มีแต่การอ่านเพื่อเรียนเท่านั้นเมื่อคุณพัฒนาความสามารถของตนเองขึ้นมาแล้ว ผลที่ตามมาจะมิได้มีอยู่เฉพาะตัวเอง เพราะคุณรู้ว่ายังมีคนอีกมากที่ด้อยโอกาสเพราะเขาอ่านไม่เป็น ไม่อ่าน หรือมีปัญหาการอ่าน หากคุณมีโอกาสจะช่วยผู้อื่นได้ก็นับได้ว่าคุณเป็น เพื่อน คนหนึ่งที่ทุกคนต้องการคบหา
การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญและการอ่านเร็ว
ผู้อ่านทั้งหลายย่อมปรารถนามีความสามารถดังต่อไปนี้
1. อ่านได้เร็ว
2. เข้าใจทุกเรื่องที่อ่าน
3. ใช้เวลาอ่านแต่น้อย ได้ประโยชน์จากการอ่านมากๆ
4. มีเวลาอ่าน มากพอที่จะอ่านได้ตามต้องการ
5. อ่านแล้วจำได้มากที่สุด
6. นำความรู้ ความคิด และสาระอื่นๆ ไปใช้ได้ผลดี และมากที่สุด




ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล. (2544). การอ่านให้เก่ง. พิมพ์ครั้งที่ 9 .กรุงเทพฯ : กระดาษสา.